วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

วัฒนธรรมไทย

 วัฒนธรรมและประเพณีไทย
ที่มาของวัฒนธรรมไทย
สิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากสังคมไทยมีลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่มและอุดมสมบูรณ์ด้วยแม่น้ำลำคลอง คนไทยได้ใช้น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง ในการเกษตรกรรมและการอาบ กิน เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาหน้าน้ำ คือ เพ็ญเดือน 11 และเพ็ญ เดือน 12 ซึ่งอยู่ในห้วงเวลาปลายเดือนตุลาคมและปลายเดือนพฤศจิกายน อันเป็นระยะเวลา ที่ น้ำไหลหลากมาจากทางภาคเหนือของประเทศ คนไทยจึงจัดทำกระทงพร้อม ด้วยธูปเทียนไปลอย ในแม่น้ำลำคลอง เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษแม่คงคา และขอพรจากแม่คงคา เพราะได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ทำให้เกิด "ประเพณีลอยกระทง" นอกจากนั้นยังมีประเพณีอื่น ๆ อีกในส่วนที่เกี่ยวกับ แม่น้ำลำคลอง เช่น ประเพณีแข่งเรือ


ระบบการเกษตรกรรม สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม (agrarian society) กล่าวคือ ประชากรร้อยละ 80 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตผูกพันกับระบบการเกษตรกรรม และระบบการเกษตรกรรมนี้เอง ได้เป็น ที่มาของวัฒนธรรมไทยหลายประการ เช่น ประเพณีขอฝน ประเพณีลงแขก และการละเล่น เต้นกำรำเคียว เป็นต้น

ค่านิยม (Values) กล่าวได้ว่า "ค่านิยม" มีความเกี่ยวพันกับ วัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด และ "ค่านิยม" บางอย่างได้กลายมาเป็น "แกน" ของวัฒนธรรมไทยกล่าวคือ วิถีชีวิตของคนไทยโดยส่วนรวมมีเอกลักษณ์ซึ่งแสดงออกถึงอิสรภาพและเสรีภาพ

การเผยแพร่ทางวัฒนธรรม (Cultural diffusion) วัฒนธรรมทาง หนึ่ง ย่อม แตกต่างไปจากวัฒนธรรมทางสังคมอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมมิได้เกิดขึ้นมาใน ภาชนะ ที่ถูกผนึกตราบเท่าที่มนุษย์ เช่น นักท่องเที่ยว พ่อค้า ทหาร หมอสอนศาสนา และผู้อพยพยังคง ย้ายถิ่นที่อยู่จากแห่งหนึ่งไปยังแห่งอื่น ๆ เขาเหล่านั้นมักนำวัฒนธรรมของพวกเขาติดตัว ไปด้วย เสมอ ซึ่งถือได้ว่า เป็นการเผยแพร่ทางวัฒนธรรม เป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วและกว้างขวาง ประจักษ์ พยานในเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าน้ำอัดลมชื่อต่าง ๆ มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก


ความสำคัญของวัฒนธรรม

วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในความเป็นชาติ ชาติใดที่ไร้เสียซึ่งวัฒนธรรมอันเป็นของตนเองแล้ว ชาตินั้นจะคงความเป็นชาติอยู่ไม่ได้ ชาติที่ไร้วัฒนธรรม แม้จะเป็นผู้พิชิตในการสงคราม แต่ในที่สุดก็จะเป็นผู้ถูกพิชิตในด้านวัฒนธรรม ซึ่งนับว่าเป็นการถูกพิชิตอย่างราบคาบและสิ้นเชิง ทั้งนี้เพราะผู้ที่ถูกพิชิตในทางวัฒนธรรมนั้นจะไม่รู้ตัวเลยว่าตนได้ถูกพิชิต เช่น พวกตาดที่พิชิตจีนได้ และตั้งราชวงศ์หงวนขึ้นปกครองจีน แต่ในที่สุดถูกชาวจีนซึ่งมีวัฒนธรรมสูงกว่ากลืนจนเป็นชาวจีนไปหมดสิ้น


หน้าที่ของวัฒนธรรม

วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดรูปแบบของสถาบัน ซึ่งมีลักษณะแตกต่าง กันไปในแต่ละสังคม เช่น วัฒนธรรมอิสลามอนุญาตให้ชาย (ที่มีความสามารถเลี้ยงดูและ ให้ความ ยุติธรรมแก่ภรรยา) มีภรรยาได้มากกว่า 1 คน โดยไม่เกิด 4 คน แต่ห้ามสมสู่ ระหว่าง เพศเดียว กัน อย่างเด็ดขาด ในขณะที่ศาสนาอื่นอนุญาตให้ชายมีภรรยาได้เพียง 1 คน แต่ไม่มีบัญญัติห้าม ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน ฉะนั้นรูปแบบของสถาบันครอบครัวจึงอาจแตกต่างกันไป


วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ พฤติกรรมของคน จะเป็นเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของกลุ่มสังคมนั้น ๆ เช่น วัฒนธรรมในการพบปะทักทายของ ไทย ใช้ในการสวัสดีของชาวตะวันตกทั่วไปใช้ในการสัมผัสมือ ของชาวทิเบตใช้การแลบลิ้น ของชาว มุสลิมใช้การกล่าวสลาม เป็นต้น


วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ควบคุมสังคม สร้างความเป็นระเบียบ เรียบร้อย ให้แก่สังคม เพราะในวัฒนธรรมจะมีทั้งความศรัทธา ความเชื่อ ค่านิยม บรรทัดฐาน เป็นต้น ตลอดจน ผลตอบแทนในการปฏิบัติและบทลงโทษเมื่อฝ่าฝืน


ประเพณีไทย อารยธรรมไทย

ประเพณีไทยอันดีงามที่สืบทอดต่อกันมานั้น ล้วนแตกต่างกันไปตามความเชื่อ ความผูกพันของผู้คนต่อพุทธศาสนา
และการดำรงชีวิตที่สอดประสานกับฤดูกาลและธรรมชาติอย่างชาญฉลาดของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นทั่วแผ่นดินไทย เช่น


ภาคเหนือ ประเพณีบวชลูกแก้วของคนไตหรือชาวไทยใหญ่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ภาคอีสาน ประเพณีบุญบั้งไฟของชาวจังหวัดยโสธร
ภาคกลาง ประเพณีทำขวัญข้าวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาคใต้ ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น นอกจากนี้

ประเพณีและอารยธรรมไทยยังนำมาซึ่งการท่องเทียว เป็นที่รู้จักและประทับใจแก่ชาติอื่น นับเป็นมรดกอันลำค่าที่เรา ... คนไทยควรอนุรักษ์และสืบสานให้ยิ่งใหญ่ตลอดไป



วัฒนธรรมและประเพณีภาคเหนือ
ภาคเหนือ เป็นภูมิภาคหนึ่งของไทย อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ มีเขตแดนทางตอนเหนือติดกับชายแดนพม่าและลาว ทางตะวันออกจรดชายแดนลาวและภาคอีสาน ทางตะวันตกจรดพม่า และทางใต้ติดกับภาคกลาง

ภูมิประเทศของภาคเหนือเต็มไปขุนเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อน โดยเฉพาะบริเวณตอนเหนือสุด เช่น จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และน่าน โดยมีจุดสูงสุดของภาค (และของประเทศ) อยู่ที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ทางตอนเหนือของภาคนั้นจะมีภาษาไทยที่มีสำเนียงเป็นของตนเองเรียกว่า คำเมือง


จังหวัดในภาคเหนือ แบ่งตามความคุ้นเคยของชาวไทย และตามราชบัณฑิตยสถาน[1] จะประกอบไปด้วย 9 จังหวัด ได้แก่

เชียงราย (โยนกเชียงแสน)

เชียงใหม่ (นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่)

น่าน (นันทบุรีศรีนครน่าน)

พะเยา (ภูกามยาว)

แพร่ (เวียงโกศัย)

แม่ฮ่องสอน (แม่ร่องสอน,เมืองยวม)

ลำปาง (เขลางค์นคร)

ลำพูน (หริภุญชัย)

อุตรดิตถ์ (เมืองพิชัย,เมืองลับแล)


การแต่งกาย ภาคเหนือ






การแต่งกายของคนภาคเหนือที่เป็นชาวบ้านทั่วไป ชายจะนุ่งกางเกงขายาวลักษณะแบบกางเกงขายาวแบบ 3 ส่วน เรียกติดปากว่า “เตี่ยว” หรือ เตี่ยวสะดอ ทำจากผ้าฝ้าย ย้อมสีน้ำเงินหรือสีดำ ส่วนเสื้อก็นิยมสวมเสื้อผ้าฝ้ายคอกลม แขนสั้น แบบผ่าอก กระดุม 5 เม็ด สีน้ำเงินหรือสีดำ เช่นเดียวกัน เรียกว่า เสื้อม่อฮ่อม ชุดนี้ใส่เวลาทำงาน
สำหรับหญิงชาวเหนือจะนุ่งผ้าซิ่น(ผ้าถุง)ยาวเกือบถึงตาตุ่ม นิยมนุ่งทั้งสาวและคนแก่ ผ้าถุงจะมีความประณีต งดงาม ตีนซิ่นจะมีลวดลายงดงาม ส่วนเสื้อจะเป็นเสื้อคอกลม มีสีสัน ลวดลายสวยงามเช่นเดียวกัน เรื่องการแต่งกายนี้ หญิงชาวเหนือจะแต่งตัวให้สวยงามอยู่เสมอ ชาวเหนือถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ จนถึงกับมีคำสุภาษิตของชาวเหนือสั่งสอนสืบต่อกันมาเลยว่า




ตุ๊กบ่ได้กิน บ่มีไผตามไฟส่องต้อง
ตุ๊กบ่ได้นุ่งได้ย่อง ปี้น้องดูแควน

2.ชนเผ่าพื้นเมือง ภาคเหนือ

2.1ชนเผ่าม้ง

ยังไม่มีผู้ใดสามารถสรุปได้ว่าชนชาติม้งมาจากที่ไหน แต่สันนิษฐานกันว่าม้งคงจะอพยพมาจากที่ราบสูงธิเบต ไซบีเรีย และมองโกเลีย เข้าสู่ประเทศจีน และตั้งหลักแหล่งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเหลือง (แม่น้ำฮวงโห) เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว ซึ่งชาวเขาเผ่าม้งจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในมณฑลไกวเจา ฮุนหนำ กวางสี และมณฑลยูนาน ม้งอาศัยอยู่ในประเทศจีนมาหลายศตรรษ จนกระทั่ง ประมาณคริสตศตวรรษที่ 17 ราชวงค์แมนจู (เหม็ง) มีอำนาจในประเทศจีน กษัตริย์จีนในราชวงค์เหม็งได้เปลี่ยนนโยบายเป็นการปราบปราม เพราะเห็นว่าม้งที่เป็นผู้ชายส่วนใหญ่แล้วรูปร่างหน้าตาคล้ายกับคนรัสเซีย ทำให้คนจีนคิดว่า ม้งเป็นคนรัสเซีย จึงเป็นเหตุให้มีการปราบปรามม้งเกิดขึ้น โดยให้ชาวม้งยอมจำนน และยอมรับวัฒนธรรมของจีน และอีกประการหนึ่งคือเห็นว่า ม้งเป็นพวกอนารยชนแห่งขุนเขา (คนป่าเถื่อน) จึงได้มีการต่อสู้กันอย่างรุนแรงในหลายแห่ง เช่น ในเมืองพังหยุนในปี พ.ศ.2009 และการต่อสู้ในมณฑลไกวเจาในระหว่าง พ.ศ. 2276 - 2278 และการต่อสู้ในมณฑลเสฉวนในระหว่าง พ.ศ. 2306 – 2318
ในที่สุด ชาวม้งประสบกับความพ่ายแพ้ สูญเสียพลรบ และประชากรเป็นจำนวนมาก ในที่สุดม้งก็เริ่มอพยพถอยร่นสู่ ทางใต้ และกระจายเป็นกลุ่มย่อย ๆ กลับขึ้นอยู่บนที่สูงป่าเขาในแคว้นสิบสองจุไทย สิบสองปันนา และอีกกลุ่มได้อพยพไปตามทิศตะวันออกเฉียงเหนือของราชอาณาจักรลาวบริเวณทุ่งไหหินเดียนเบียนฟู โดยมีหัวหน้าม้งคนหนึ่ง คือ นายพลวังปอ ได้ราบรวมม้ง และอพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ พ.ศ. 2400 เศษ เป็นต้นมา
ปัจจุบันชาวม้งส่วนใหญ่ในประเทศไทย ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามภูเขาสูง หรือที่ราบเชิงเขาในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำปาง กำแพงเพชร เลย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และตาก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นประมาณ 151,080 คน

2.2ชนเผ่ากะเหรี่ยง


กะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าที่จัดได้ว่ามีหลายเผ่าพันธุ์ หลายภาษา มีการนับถือศาสนาที่ต่างกัน แต่กะเหรี่ยงดั้งเดิมจะนับถือผี เชื่อเรื่องต้นไม้ป่าใหญ่ ภายหลังหันมานับถือพุทธ คริสต์ เป็นต้น กะเหรี่ยง มีถิ่นฐานตั้งอยู่ที่ประเทศพม่า แต่หลังจากถูกรุกรานจากสงคราม จึงมีกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ประเทศไทย กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย กะเหรี่ยงสะกอ หรือที่เรียกนามตัวเองว่า ปากะญอ หมายถึงคน หรือมนุษย์นั้นเอง กะเหรี่ยงสะกอเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง โดยมีมิชชันนารีเป็นผู้คิดค้นดัดแปลงมาจากตัวหนังสือพม่า ผสมภาษาโรมัน กลุ่มนี้หันมานับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ กะเหรี่ยงโปร์นั้นเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเคร่งครัดในประเพณี พบมากที่ อำเภอ แม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอ อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และแถบตะวันตกของประเทศไทย คือ กะเหรี่ยงบเว พบที่ อำเภอ ขุนยวม แม่ฮ่องสอน ส่วนปะโอ หรือตองสูก็มีอยู่บ้าง แต่พบน้อยมากในประเทศไทย ชนเผ่า "ปกากะญอ" เป็นชนเผ่าที่บอกกล่าวถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมานับร้อยนับพันเรื่อง เรียงร้อยเก็บไว้ในเเนวของนิทาน อาจจะไม่ใช่หลักฐานที่เเน่ชัด เเต่ก็พยายามที่จะเล่าสืบทอดให้ลูกหลานได้รู้ ถึงความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ และวัฒนธรรมของตัวเอง เล่ากันตั้งแต่สมัยที่พระเจ้าสร้างโลก พระองค์ได้สร้างมนุษย์ คู่แรก คือ อดัม กับเอวา ทั้งสองคนได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสวน (เอเดน) ที่พระองค์ได้สร้างไว้ ทั้งสองได้ทำ ผิดกฎ ของสวรรค์ จึงถูกเนรเทศลงมาใช้กรรมอยู่ในโลกจนกระทั่งมีลูกหลานสืบเชื้อสายมาจนถึงทุกวันนี้
กล่าวถึงตำนานที่ตั้งของชนเผ่ากะเหรี่ยง ตั้งอยู่ที่ภูเขา "ทอทีปล่อก่อ" มีผู้เฒ่า "เทาะแมป่า" เป็นหัวหน้า หมู่บ้านสืบเชื่อสายมาจนลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง เมื่อที่ทำกินไม่พอเทาะแมป่าจึงพาลูกหลานอพยพย้ายถิ่นฐาน ระหว่างการเดินทางว่ากันว่าเทาะแมป่าเดินเร็วมากลูกหลานพากันหยุดพัก เทาะแมป่าไม่สนใจลูกหลาน พยายามที่จะเดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ จนมาหยุดตามที่ต่างๆ แถบแถวลุ่มน้ำสาละวินบ้าง ลุ่มน้ำอิระวดีบ้าง กระทั้งสืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์ จนมาถึงทุกวันนี้มีกะเหรี่ยง อาศัยอยู่กระจัดกระจาย ทั่วไปในเขตพม่า ตลอดจนในเขตภาคเหนือ และตะวันออกของประเทศไทย เอกสารบางชนิดระบุว่าคนกระเหรี่ยงอาศัยอยู่ในตะวันออกเฉียงไต้ของประเทศจีน เมื่อถูกขับไล่หนี ลงมาตั้งหลักในระว่างกลางเขตพม่ากับมอญ ตอนหลังถูกพม่าบีบ ต้องอพยพอยู่บนภูเขา เอกสารบางชิ้นระบุว่าคนกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยล้วนมาจากพม่าทั้งสิ้น เพียงแต่ ไม่มีเอกสารยืนยันว่าเข้ามาอยู่เมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย บ้างก็ว่าในดินแดนล้านนา หรือก่อนโยนกด้วยซ้ำ นั้นหมายถึงการกำเนิดเมืองเชียงใหม่
การย้ายถิ่นฐานจากคำบอกกล่าวของ "พือ มูล บุญเป็ง" คนเฒ่า คนแก่ ได้กล่าว เล่าความเป็นมาของกะเหรี่ยงในประเทศไทย พื้นที่หลักที่กะเหรี่ยง (ปกากะญอ) อาศัยอยู่ครั้งเเรกคือ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ โดยยึดอาชีพเกษตรกรรม ในการหาเลี้ยงชีพ ต่อมาในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลไทยได้เปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติประมูล โครงการทำป่าสัมปทาน ณ.ตำบลแม่ยาว จังหวัดเชียงราย โดยบริษัทที่ชนะการประมูล จะได้กรรมสิทธิ์การทำธุรกิจขนส่งไม้ จากตำบล แม่ยาว ออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งในขณะนั้น บริษัทจากประเทศฝรั่งเศส หรือที่ชาวกระเหรี่ยงเรียกกันว่า บริษัท "ห้าง โบ๋ เบ๋" ได้กรรมสิทธิ์ในการทำธุรกิจสัมปทานในครั้งนั้นไป "พือ มูล บุญเป็ง" เล่าต่อว่าหลังจากที่ "ห้างโบ๋ เบ๋" เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย ปัญหาแรกที่พบคือการสื่อสาร และการทำสัมปทานไม้ในสมัยนั้น จำเป็นต้องมี ช้างควานช้างในการลากไม้ซุง หลังจากเสร็จสัมปทาน กะเหรี่ยง (ปกากะญอ) ส่วนหนึ่งได้ตั้งหลักปักฐานอยู่บ้านน้ำลัด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยเห็นว่าเป็นที่เหมาะแก่การทำการเกษตร ได้ใช้ชีวิตมาจนกระทั่งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงทำสงครามกะเหรี่ยงได้ร่วมมือกับทหารไทย โดยใช้ช้างเป็นพาหนะ ในการลำเลียง สิ่งของ เสบียง อาหาร ให้กับทหารไทยในการรบครั้งนั้น หลังสงครามมีชนพื้นเมืองย้ายถิ่นฐานกลับมามากขึ้น ทำให้ที่คับแคบแออัดขัดแย้งที่ทำมาหากิน กะเหรี่ยงส่วนหนึ่งจึงตัดสินใจออกเดินทางอีกครั้ง
กำเนิด ตำบลแม่ยาวเนื่องด้วยชนเผ่ากะเหรี่ยง มีนิสัยรักความสงบ ชอบใช้ชีวิตอย่างสันโดษ เมื่อมีประชากรหนาแน่น จึงมองหาที่ทำกินใหม่ โดยเล็งเห็นว่า ตำบลแม่ยาว ที่เคยเป็นสัมปทานเก่า เป็นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก ขณะนั้นผู้เฒ่า (เซโค่) ตุดง ธุระวร ได้เป็นผู้นำพาลูกหลาน และลูกบ้านส่วนหนึ่งย้ายขึ้นมา ตั้งหลัก ปักฐาน อยู่ที่ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย คำว่า แม่ยาว ตั้งขึ้นมาจากสัมปทานแม่ยาวนั้นเอง แต่ยังมีบางส่วนที่ ย้าย กระจัดกระจายออกไป ตามส่วนต่างๆ ตามแทบแถว ตำบล ทุ่งพร้าว อำเภอ แม่สรวย จังหวัดเชียงราย ยังมีส่วนที่ย้าย และอาศัยอยู่แถบแนวชายแดนของจังหวัดกาญจนบุรี ใช่ว่าจะมีเพียงเท่านี้ ทุกวันนี้ ยังมีประชากรกะเหรี่ยงอาศัยกระจัดกระจายทั่วทุกภาคของประเทศไทย

2.3 ชนเผ่า ลีซู(ลีซอ)

ลีซูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่จัดอยู่ในกลุ่มธิเบต – พม่า ของชนชาติโลโล ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของชนเผ่าลีซูอยู่บริเวณต้นน้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน อยู่เหนือหุบเขาสาละวินในเขตมณฑลยูนนานตะวันตกเฉียงเหนือและตอนเหนือของรัฐคะฉิ่น ประเทศพม่า ชนเผ่าลีซูส่วนใหญ่เชื่อว่าเมื่อ ๔,๐๐๐ปีที่ผ่านมาพวกตนเคยมีอาณาจักร เป็นของตนเอง แต่ต้องเสียดินแดนให้กับจีนและกลายเป็นคนไร้ชาติต่อมาชนเผ่าลีซู จึงได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่รัฐฉานตอนใต้ กระจัดกระจายอยู่ตามภูเขาในเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองเชียงตุง บางส่วนอพยพไปอยู่เขตเมืองซือเหมา สิบสองปันนา ประเทศจีน หลังจากนั้นได้อพยพลงมา ทางใต้เนื่องจากเกิดการสู้รบกันระหว่างชนเผ่าอื่น นับเวลาหลายศตวรรษ ชนเผ่าลีซูได้ถอยร่นเรื่อยลงมา จนในที่สุดก็แตกกระจายกัน เข้าสู่ประเทศพม่า จีน อินเดีย แล้วเข้าสู่ประเทศไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2464 กลุ่มแรกมี 4 ครอบครัว มาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนครั้งแรกอยู่ที่บ้านห้วยส้าน อ.เมือง จ.เชียงราย อยู่ได้โดยประมาณ 5-6 ปี ก็มีการแยกกลุ่มไปอยู่หมู่บ้านดอยช้าง ทำมาหากินอยู่แถบ ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย จากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่ชาวลีซู ถึงเรื่องราวการอพยพว่า ได้อพยพมาจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของเมืองเชียงตุงประเทศพม่า เข้ามาตั้งถิ่น ฐานอยู่ที่บ้านลีซูห้วยส้าน อ.เมือง จ.เชียงราย และโยกย้ายไปตั้งบ้านเรือน ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก พะเยา กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ แพร่และสุโขทัย ลีซูไม่มีภาษาเขียนของตนเองลีซูแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ ลีซูลายกับลีซูดำ ชาวลีซูที่อยู่ในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเป็นลีซูลาย ส่วนลีซูดำนั้นอยู่ พม่า จีน

2.4 ชนเผ่าอ่าข่า





อ่าข่าเป็นชนกลุ่มๆ หนึ่ง ที่ใช้ชื่อเรียกชนกลุ่มตนเองว่าอ่าข่า ในประเทศจีนเรียกว่าฮานีหรือโวน อ่าข่าสามารถแยกศัพท์ได้ดังนี้ อ่า แปลว่าชื้น ข่า แปลว่าไกล ความหมายของคำว่าอ่าข่าคือ ห่างไกลความชื้น อ่าข่าชื่อนี้มาจากความเชื่อที่ว่า ถ้าอยู่ใกล้แม่น้ำมีโรคภัยไข้เจ็บมาก และจากตำนานของอ่าข่าที่เล่าสู่รุ่นหลังมา กล่าวว่า กาลครั้งหนึ่งอ่าข่าได้เสียชีวิตไปมาก เนื่องจากอยู่ใกล้แม่น้ำ ซึ่งอ่าข่าเรียกโรคนี้ว่า มี้หิ โรคนี้อาจตรงกับโรคอหิวาตกโรค หรือไข้มาลาเลียอย่างใดอย่างหนึ่ง จากตำนานและแนวความเชื่อมีผลต่อที่อยู่อาศัย อ่าข่าจึงมักอยู่ดอยสูงๆ อาศัยอยู่เฉพาะในทวีปเอเชีย ประกอบด้วยประเทศต่างๆ ดังนี้ ประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม และประเทศจีน ตามตำนานเล่าขานกันมาเดิมอ่าข่าอาศัยอยู่จีนเป็นแผ่นดินใหญ่ หรือที่อ่าข่าเรียกว่าดินแดน จ่าแตหมี่ฉ่า จากคำบอกเล่าพบว่าชนเผ่าอ่าข่าได้อพยพสู่ดินแดนต่างๆ เพราะปัญหาการเมืองในประเทศจีน สำหรับการเข้ามาสู่ประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อปี พ . ศ .2435 โดยมีเส้นทาง 2 สาย คือ สายแรกอพยพจากประเทศพม่าสู่ประเทศไทย เข้ามาครั้งแรกในเขตอำเภอแม่จัน หมู่บ้านพญาไพร ( ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง ) โดยการนำของ หู่ลอง จูเปาะ และหู่ซ้อง จูเปาะ ซึ่งเป็นพี่น้องกัน ได้เข้าในเขตดอยตุง เส้นทางที่สอง ได้อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยผ่านรอยตะเข็บของประเทศพม่าและลาว เข้าสู่ประเทศไทยโดยตรงที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันอ่าข่าได้กระจ่ายอยู่ในเขตจังหวัดภาคเหนือ 5 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ตาก แพร่ และคาดได้มีอ่าข่าบางส่วนได้อพยพไปอยู่จังหวัดน่าน พิษณุโลก และหลายจังหวัดของประเทศไทย เพราะไปใช้แรงงานในจังหวัดดังกล่าว อย่างไรก็ตามจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าอ่าข่าให้ความกระจ่างว่าอ่าข่าประเทศไทยส่วนมากอพยพมาจากเชียงตุงของพม่า เข้ามาและปักหลักแหล่งครั้งแรกที่บ้านดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ผู้นำรุ่นแรกที่เข้ามาในประเทศไทยคือนายแสน อุ่นเรือน ส่วนญาติพี่น้องได้ย้ายไปอยู่หมู่บ้านต่างๆ เช่นบ้านแสนใจพัฒนา ผาหมี และแสนเจริญเก่า

3.อาหารภาคเหนือ





ภาคเหนือ... เป็น ดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ครั้งในอดีต เป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ ที่มีศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ที่แตกต่างไปจากภาคอื่น ๆ และการที่คนเหนือมีเชื้อสายไทยใหญ่ หน้าตา ผิวพรรณ จึงต่างไปจากคนภาคอื่น ๆ ประกอบกับความอ่อนหวาน ซื่อ บริสุทธิ์ ทำให้คนเหนือมีเอกลักษณ์ที่เด่นชัดของตนเองนอก จากนี้ การมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา ทำให้เกิดธรรมชาติที่สวยงาม มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ และยังเป็นที่อยู่ของคนไทยภูเขาหลายเผ่าพันธุ์ ภาคเหนือจึงยังเป็นที่รวมของวัฒนธรรมที่หลากหลาย ขนบธรรมเนียม ประเพณี ที่งดงามเหล่านี้ได้สืบทอดกันมานานแสนนานภาค เหนือ เป็นพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นคล้ายต่างประเทศ ไม้เมืองหนาวต่าง ๆ พันธุ์ ถูกนำมาทดลองปลูกละได้กลายเป็นสินค้าที่ทำรายได้ ให้แก่เกษตรกร ภาคเหนือเป็นอันมาก แต่ถึงจะสามารถปลูกพืช ผัก เมืองหนาวได้ แต่อาหารดั้งเดิม ของภาคเหนือ ก็ยังใช้พืชตามป่าเขา และพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ มาใช้ในการ ปรุงอาหารเป็นส่วนใหญ่โก๊ะ ข้าว หรือขันโตก จะทำด้วยไม้รูปทรงกลม มีขาสูงพอดีที่จะนั่งร่วมวง และหยิบอาหารได้สะดวก ชาวบ้านภาคเหนือจะจัดอาหารใส่ถ้วยแล้ววางบนโก๊ะข้าว หรือบางบ้านอาจใช้ใส่กระด้งแทนการ เก็บอาหารที่เหลือ เพื่อให้พ้นมด แมลง ที่จะมาไต่ตอม ก็จะใส่กระบุง แล้วผูกเชือก แขวนไว้ในครัว เมื่อต้องการจะรับประทานก็ชักเชือกลงมา ในครัวทั่ว ๆ ไปจะมีราวไว้แขวน หอม กระเทียมคน ภาคเหนือจะรับประทานข้าวเหนียวกันเป็นอาหารหลัก ส่วนกับข้าวก็หาเอาตามท้องทุ่ง และลำน้ำ ทั้งกบ เขียด อึ่งอ่าง ปู ปลา หอย แมงยูน จีกุ่ง ( จิ้งหรีดชนิดหนึ่ง ) ไก่ หมู และเนื้ออาหารภาคเหนือ ไม่นิยมใส่น้ำตาล ความหวานจะได้จากส่วนผสม ที่นำมาทำอาหาร เช่น ความหวานจากผัก จากปลา จากมะเขือส้ม เป็นต้น
การ ทำอาหารก็มักจะให้สุกมาก ๆ เช่นผัดก็จะผัดจนผักนุ่ม ผักต้มก็ต้มจนนุ่ม อาหารส่วนใหญ่จะใช้ผัดกับน้ำมัน แม้แต่ตำขนุน ( ยำขนุน ) เมื่อตำเสร็จ ก็ต้องนำมาผัดอีกจึงจะรับประทาน ในปัจจุบันนี้ เนื้อสัตว์ ที่นิยมนำมาทำอาหารจะเป็น หมู ไก่ เนื้อ และปลาตามลำดับ ปลาที่ใช้ในปัจจุบันมีทั้งปลาเลี้ยง และปลา ที่จับจากแม่น้ำลำคลอง

4.อาชีพคนภาคเหนือ





ชาวเหนือส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำไร่ การทำนาส่วนใหญ่จะเป็นนาดำ ที่ลุ่มมาก ๆ จึงทำนาหว่าน คนเหนือปลูกข้าวเหนียวกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะบริโภคข้าวเหนียว ข้าวเหนียวภาคเหนือถือเป็นข้าวที่มีคุณภาพดี นึ่งสุกแล้วขาวสะอาด อ่อนและนิ่มน่ารับประทาน ข้าวพันธ์ที่มีชื่อเสียง คือ ข้าวสันป่าตอง นอกจากทำนาแล้วยังปลูกพืชไร่อื่น ๆ เช่น หอม กระเทียม ถั่ว ยาสูบ เป็นต้น นอกจากปลูกข้าวแล้ว อาชีพทำสวนก็เป็นที่นิยมกัน โดยเฉพาะทำสวนลำไย และลิ้นจี่ นอกจากจะขายให้คนไทยได้รับประทานแล้ว ยังส่งขายต่างประเทศอีกด้วย ยังมีอาชีพอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาวเหนือ คือ การทำเมี่ยง ชาวเหนือชอบกินหมากและอมเมี่ยง โดยเอาใบเมียงที่เป็นส่วนใบอ่อนมาหมักให้มีรสเปรี้ยวอมฝาด เมื่อหมักนานได้ที่ เวลาจะเอาใบเมี่ยงมาอม ก็ผสมเกลือเม็ดหรือของกินอย่างอื่นแล้วแต่ชอบ นอกจากการอมเมี่ยง คนล้านนาทั้งหญิงและชายจะสูบบุหรี่ที่มวนด้วยใบตองกล้วย มวนหนึ่งขนาดเท่านิ้วมือ และยาวเกือบคืบ ชาวบ้านเรียกบุหรี่ชนิดนี้ว่า “ขี้โย” หรือ “บุหรี่ขี้โย” ที่นิยมสูบกันมากอาจเนื่องมาจากอากาศหนาวเย็น การสูบบุหรี่คงทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น นอกจากอาชีพเกษตรกรรม ชาวเหนือยังประกอบอาชีพอื่น อาจเรียกได้ว่าเป็นหัตถกรรมหรืออุตสาหกรรมในครัวเรือนก็ได้ คือ ผู้หญิงจะทอผ้าเมื่อเสร็จจากการทำนา นอกจากนั้นยังมีการแกะสลัก การทำเครื่องเงิน เครื่องเขิน และการทำเครื่องเหล็ก เป็นต้น

5.การแสดงภาคเหนือ






ภาคนี้มีการแสดงหรือการร่ายรำที่มีจังหวะช้า ท่ารำที่อ่อนช้อย นุ่มนวล เพราะมีอากาศเย็นสบาย ทำให้จิตใจของผู้คนมีความนุ่มนวล อ่อนโยน ภาษาพูดก็นุ่มนวลไปด้วย เพลงมีความไพเราะ อ่อนหวาน ผู้คนไม่ต้องรีบร้อนในการทำมาหากิน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นมีอิทธิพลต่อการแสดงนาฏศิลป์ของภาคเหนือ นาฏศิลป์ของภาคเหนือเช่น ฟ้อนเทียน ฟ้อนเล็บ ฟ้อนมาลัย ฟ้อนชมเดือน ฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง(ฟ้อนเจิง)ตีกลองสะบัดไชย ซอ ค่าว นอกจากนี้ นาฏศิลป์ของภาคเหนือยังได้รับอิทธิพลจากประเทศใกล้เคียง ได้แก่ พม่า ลาว จีน และวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย เช่น ไทยใหญ่ เงี้ยว ชาวไทยภูเขา ยอง เป็นต้น ดังนั้น นาฏศิลป์พื้นเมืองของภาคเหนือนอกจากมีของที่เป็น "คนเมือง" แท้ๆ แล้วยังมีนาฏศิลป์ที่ผสมกลมกลืนกับชนชาติต่างๆ และของชนเผ่าต่างๆ อีกหลายอย่าง เช่น อิทธิพลจากพม่า เช่น ฟ้อนม่านมงคล ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา นาฏศิลป์ของชนเผ่าต่างๆ เช่น ฟ้อนนก(กิงกาหล่า - ไทยใหญ่) ฟ้อนเงี้ยว (เงี้ยว) ระบำเก็บใบชา(ชาวไทยภูเขา)

6.ภาษาเหนือ




ภาษาเหนือหรือภาษาล้านนาเป็นภาษาย่อยหรือภาษาถิ่นของภาษาไทย ใช้กันในดินแดนล้านนา 8 จังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน
ความแตกต่างของภาษาพูด (คำเมือง) ระหว่างภาษากลางและภาษาเหนือคือ การใช้คำศัพท์ พยัญชนะ สระ หรือวรรณยุกต์ต่างกัน
7.วิถีชีวิต
คนไทยในอาณาจักรล้านนามีชีวิตและความเป็นอยู่โดยการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา หุบเขา มีพื้นที่ราบจำนวนน้อย คือ ประมาณ1/4 ของพื้นที่ทั้งหมด ชาวบ้านทำนาแบบนาทดน้ำ พื้นที่สูงปลูกข้าวไร่ พื้นที่ที่ราบในแอ่งเขาอุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าว และพืชอื่น ๆ ได้ดี คือ พื้นที่ราบแอ่งเชียงใหม่ ลำพูน และแอ่งเชียงราย ส่วนลำปาง แพร่ น่าน ผลิตข้าวได้น้อย ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบผลิตเพื่อให้พออยู่พอกิน การติดต่อค้าขายระหว่างกันก็จะเป็นประเภทวัวต่าง สินค้ามีของป่า เกลือ ผ้า อัญมณี เป็นต้น ส่วนการค้าขายในหมู่บ้านก็จะมี “กาดมั่ว” ใครมีของอะไรก็นำมาวางขายได้
คนไทยภาคเหนือนิยมปลูกบ้านอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นหมู่บ้าน หากพื้นที่ใดอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำนา มีแม่น้ำไหลผ่าน ก็จะมีหมู่บ้านตั้งเป็นระยะ ๆ เรื่อยไปตามแม่น้ำ ลักษณะบ้านจะเป็นบ้านไม้ยกสูง มีใต้ถุนโล่ง เป็นที่เก็บของเครื่องมือทำเกษตร และเป็นที่ทำงานหรือพักผ่อนยามว่างได้ด้วย บ้านของชาวเหนือนิยมมุงกระเบื้องหรือชาวบ้านเรียกว่าดินขอ หรือบางครั้งก็มุงด้วยแผ่นไม้สักซึ่งทำเป็นแผ่นเล็ก ๆ แต่โตกว่าแผ่นกระเบื้อง แผ่นไม้สักนี้จะทนแดดทนฝน ถ้าคัดเลือกไม้อย่างดีจะอยู่ได้เกิน 50 ปีขึ้นไปเลยทีเดียว
ถัดจากบ้านก็จะเป็นยุ้งข้าวขนาดใหญ่เล็กตามฐานะ นอกจากนั้นก็จะมีสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ เป็ด วัว ควาย ม้า ถัดบ้านก็เป็นสวนผลไม้ซึ่งรวมถึงพืชผักที่ใช้ประกอบอาหารด้วย
ชาวล้านนามีลักษณะเหมือนคนไทยทั่วไป แต่เป็นเชื้อสายไทยยวน หรือโยนก คนล้านนาเองเรียกคนกลุ่มเดียวกันว่า “คนเมือง” ลักษณะเด่นกว่าคนไทยกลุ่มอื่นคือ ผิวค่อนข้างขาว รูปร่างสันทัดไม่สูง ไม่เตี้ยเกินไป ส่วนใหญ่รูปร่างผอมบาง มีภาษาที่เป็นภาษาถิ่นของตัวเอง หรือที่เข้าใจกันว่า “คำเมือง” ภาษาไทยเหนือมีระบบตัวอักษรบันทึกที่เรียกว่า “อักษรล้านนา” บันทึกเรื่องราวทางพุทธศาสนา คัมภีร์ต่าง ๆ ตลอดจนกฎหมายและความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน อักษรล้านนานี้ดัดแปลงมาจากอักษรมอญเดิม มีอายุรุ่นเดียวกับอักษรพ่อขุนรามคำแหง หรืออาจเก่ากว่านั้นอีก




วัฒนธรรมภาคอีสาน





 ภาคอีสาน หรือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่บนที่ราบสูงโคราช มีแม่น้ำโขงกั้นเขตทางตอนเหนือ และตะวันออกของภาค โดยทางด้านใต้จรดชายแดนกัมพูชา ทางตะวันตกมีเทือกเขาเพชรบูรณ์ และเทือกเขาดงพญาเย็นเป็นแนวกั้นแยกจากภาคเหนือ และภาคกลาง ซึ่งเทือกเขาที่สูงที่สุดในภาคอีสานคือ ยอดภูกระดึง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญของชาวอีสาน เช่น ลำตะคอง แม่น้ำชี และแม่น้ำมูลอีสาน มีเนื้อที่ประมาณ 170,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเทียบได้กับหนี่งในสามของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดต่าง ๆ กว่า 20 จังหวัด ดังนี้

- จังหวัดนครราชสีมา
- จังหวัดกาฬสินธุ์
  - จังหวัดขอนแก่น
  - จังหวัดชัยภูมิ
- จังหวัดนครพนม
- จังหวัดบุรีรัมย์
- จังหวัดบึงกาฬ
- จังหวัดมหาสารคาม
- จังหวัดมุกดาหาร
- จังหวัดยโสธร
- จังหวัดร้อยเอ็ด
- จังหวัดเลย
- จังหวัดสกลนคร
- จังหวัดสุรินทร์
- จังหวัดศรีสะเกษ
- จังหวัดหนองคาย
- จังหวัดหนองบัวลำภู
- จังหวัดอุดรธานี
- จังหวัดอุบลราชธานี
- จังหวัดอำนาจเจริญ

ทั้งนี้ในเรื่องของภาษาที่ใช้ในภาคอีสานนั้น อาจแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ อาทิ ภาษาหลักที่ใช้คือ ภาษาอีสาน ซึ่งถือว่า เป็นภาษาลาวสำเนียงหนึ่ง แต่ในตัวเมืองใหญ่ ๆ มักนิยมใช้ภาษากลาง ขณะที่บริเวณอีสานใต้นิยมใช้ภาษาเขมร และยังมีภาษาถิ่นอื่น ๆ เช่น ภาษาผูไท ภาษาโส้ ภาษาไทยโคราช เป็นต้น

เนื่องภาคอีสาน เป็นภาคที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารการกิน ดนตรีพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้าน และศิลปะการฟ้อนรำ ดังนั้นทางกระปุกดอทคอม จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภาคอีสานมาฝากค่ะ

เพลงพื้นบ้าน

                                                                               

สำหรับเพลงพื้นบ้านของภาคอีสานนั้น จะมีท่วงทำนองแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ โดยจะแบ่งเป็นพื้นที่ใหญ่ ๆ ได้แก่ อีสานเหนือ และอีสานใต้ ซึ่งเพลงพื้นบ้านของภาคอีสาน มักสอดแทรกแง่คิด เกี่ยวกับวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ไว้อย่างชัดเจน และสามารถแบ่งประเภทของเพลงพื้นบ้าน ได้ดังนี้

1. เพลงพิธีกรรม

ตัวอย่างเพลงพิธีกรรมของกลุ่มอีสานเหนือ ได้แก่ การลำพระเวส หรือการเทศน์มหาชาติ การแหล่ต่าง ๆ การลำผีฟ้ารักษาคนป่วย การสวดสรภัญญะ และการบายศรีสู่ขวัญในโอกาสต่าง ๆ ฯลฯ


ส่วนตัวอย่างเพลงพิธีกรรมของกลุ่มอีสานใต้ ได้แก่ เรือมมม็วต เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวสุรินทร์ ซึ่งมีความเชื่อมาแต่โบราณว่า "เรือมมม็วต" จะช่วยให้คนที่กำลังเจ็บไข้ได้ป่วยมีอาการทุเลาลงได้ ผู้เล่นไม่จำกัดจำนวน แต่จะต้องมีหัวหน้าหรือครูมม็วตอาวุโสทำหน้าที่เป็นผู้นำพิธีต่าง ๆ และเป็นผู้รำดาบไล่ฟันผีหรือเสนียดจัญไรทั้งปวง

2. เพลงร้องเพื่อความสนุกสนาน

กลุ่มอีสานเหนือ ได้แก่ หมอลำ ซึ่งแบ่งได้ 5 ชนิด คือ หมอลำพื้น หมอลำกลอน หมอลำหมู่ หมอลำเพลิน หมอลำผีฟ้า

กลุ่มอีสานใต้ ได้แก่ กันตรึม เจรียง เพลงโคราช




ทั้งนี้ ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ของภาคอีสานมักนิยมประดิษฐ์การฟ้อนรำขึ้นมาใหม่ ทำให้มีผู้แบ่งศิลปะการฟ้อนทั้งชุดเก่า และชุดใหม่ที่ปรากฏอยู่ในภาคอีสานออกเป็น 8 กลุ่มใหญ่ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะออกมาในรูปของการแสดงพื้นเมือง ได้แก่

1. การฟ้อนเลียนกิริยาอาการของสัตว์ เช่น กระโนบติงต๊อง แมงตับเต่า และกบกินเดือน ฯลฯ

2. การฟ้อนชุดโบราณคดี เช่น ระบำบ้านเชียง รำศรีโคตรบูรณ์ ระบำพนมรุ้ง และระบำจัมปาศรี

3. การฟ้อนประกอบทำนองลำนำ เช่น ฟ้อนคอนสวรรค์ รำตังหวาย เซิ้งสาละวัน และเซิ้งมหาชัย

4. การฟ้อนชุดชุมนุมเผ่าภูไท 3 เผ่า คือ เผ่าไทภูพาน เผ่าไทยบุรีรัมย์ และเผ่าไทยโคราช

5. การฟ้อนด้วยเรื่องราวจากวรรณกรรม เช่น มโนห์ราเล่นน้ำ

6. การฟ้อนเซ่นสรวงบูชา เช่น ฟ้อนภูไท แสกเต้นสาก โส้ทั่งบั้ง เซิ้งผีหมอ ฟ้อนผีฟ้า ฟ้อนไทดำ เรือมปัลโจล ฟ้อนแถบลาน รำบายศรี เรือมมม็วต เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งนางด้ง รำดึงครกดึงสาก และเซิ้งเซียงข้อง ฯลฯ

7. การฟ้อนศิลปาชีพ เช่น รำตำหูกผูกขิก ฟ้อนทอเสื่อบ้านแพง เรือมกลอเตียล (ระบำเสื่อ) เซิ้งสาวย้อตำสาด รำปั้นหม้อ รำเข็นฝาย เซิ้งสาวไหม รำแพรวา เซิ้งข้าวปุ้น รำบ้านประโคก เซิ้งปลาจ่อม เซิ้งแหย่ไข่มดแดง และเรือมศรีผไทสมันต์ ฯลฯ

8. การฟ้อนเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง เช่น เซิ้งแคน ฟ้อนชุดเล่นสาว เป่าแคน รำโปงลาง ฟ้อนกลองตุ้ม เซิ้งกะโป๋ เซิ้งทำนา เซิ้งสวิง เซิ้งกะหยัง รำโก๋ยมือ รำกลองยาวอีสาน ระบำโคราชประยุกต์ เรือมอันเดร เรือมซันตรูจน์ เรือมตลอก (ระบำกะลา) และเรือมจับกรับ ฯลฯ


เครื่อนดนตรีพื้นบ้าน




เนื่องจากภาคอีสาน เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรม ทั้งเพลงพื้นบ้าน และการฟ้อนรำ ดังนั้นชาวอีสานจึงให้ความสำคัญกับเครื่องดนตรีที่ใช้ในการบรรเลงท่วงทำนองต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ดังนั้น เครื่องดนตรีของชาวอีสาน จึงมีครบทุกประเภท ทั้ง ดีด สี ตี เป่า อาทิ

จะเข้กระบือ : เครื่องดนตรีสำคัญที่ใช้ในวงมโหรีเขมร เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีดในแนวนอน มี 3 สาย

กระจับปี่ : เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด โดยใช้กระที่ทำจากเขาสัตว์ กล่องเสียงทำ ด้วยไม้ขนุนหรือไม้สัก

พิณ : เป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงด้วยการดีด มี 2-3 สาย แต่ขึ้นเป็นสองคู่ โดยขึ้นคู่ 5

ซอกันตรึม : เป็นเครื่องสายใช้สี ทำด้วยไม้ กล่องเสียงขึงด้วยหนังงู มีช่องเสียงอยู่ด้านตรงข้ามหน้าซอ

โปงลาง : เป็นเครื่องดนตรีประเภทที่บรรเลงทำนองด้วยการตี โดยใช้บรรเลงร่วมกันกับแคน

กลองกันตรึม : เป็นเครื่องหนังชนิดหนึ่ง ทำด้วยไม้ขุดกลวง ขึงหน้าด้านหนึ่ง ด้วยหนังดึง ให้ตึงด้วยเชือก

หืน : เป็นเครื่องดนตรีกึ่งดีดกึ่งเป่าอย่างหนึ่งมีทั้งที่ทำด้วยไม้ไผ่ และโลหะ โดยมีการเซาะร่องตรงกลางเป็นลิ้นในตัว

แคน : เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดของชาวภาคอีสานเหนือ

โหวด : เป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่งที่ไม่มีลิ้น เกิดจากกระแสลมที่เป่าผ่านไม้รวก

ปี่ไสล : ใช้บรรเลงในวงกันตรึม เป็นปี่ประเภทลิ้นคู่ เช่นเดียวกับปี่ในที่มีลักษณะเป็นปี่ท่อนเดียว และมีลิ้นในตัว

กรับคู่ : เป็นกรับทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ลักษณะเหมือนกับกรับเสภาของภาคกลาง

นิทานพื้นบ้าน


นิทานพื้นบ้านของภาคอีสาน ต่างมีรูปแบบทั้งนิทานขนาดสั้น และนิทานขนาดยาว โดยบางเรื่องอาจหยิบยกเรื่องใกล้ตัวมาเล่า ขณะที่บ้างเรื่องเป็นนิทานที่สอดแทรกจินตนาการ โดยเฉพาะเรื่องอภินิหารต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะให้ประโยชน์ด้านความบันเทิงแล้ว นิทานพื้นบ้านของภาคอีสานมักสอดแทรกคติธรรม คำสอน เพื่อให้ผู้ฟังได้ตระหนักถึงการใช้ชีวิตให้มากขึ้น

ทั้งนี้ นิทานพื้นบ้านของภาคอีสานที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย อาทิ แก้วหน้าม้า อุทัยเทวี นางสิบสอง ปลาบู่ทอง กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ นางผมหอม ผาแดงนางไอ่ ทุ่งกุลาร้องไห้ ขูลูนางอั้ว ฯลฯ

การละเล่นพื้นเมือง


เนื่องจากภูมิประเทศภาคอีสานเป็นที่ราบสูง ค่อนข้างแห้งแล้ง เพราะพื้นดินไม่เก็บน้ำ ฤดูแล้งจะกันดาร ฤดูฝนน้ำจะท่วม แต่ชาวอีสานก็มีอาชีพทำไร่ทำนา และเป็นคนรักสนุก ดังนั้นจึงสามารถหาความบันเทิงได้ทุกโอกาส โดยจะมีทั้งการร้องเพลง และฟ้อนรำ ทั้งนี้ การแสดงของภาคอีสาน มักเกิดจากกิจวัตรประจำวัน หรือประจำฤดูกาล และลักษณะการแสดงซึ่งเป็นลีลาเฉพาะของอีสาน คือ ลีลา และจังหวะในการก้าวเท้า ที่มีลักษณะคล้ายเต้น แต่นุ่มนวลกว่า และมักเดินด้วยปลายเท้า โดยจะสบัดเท้าไปข้างหลังสูง

ซึ่งตัวอย่างเพลงพื้นเมือง ที่มักนิยมขับรองกัน ได้แก่ หมอลำ เพลงโคราช เจรียง กันตรึม เพลงล่องโขง เพลงแอ่วแคน ขณะที่ การฟ้อนรำ ได้แก่ แห่นางแมว เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งสวิง เซิ้งโปงลาง เซิ้งตังหวาย เซิ้งกระติบ รำลาวกระทบไม้ ฟ้อนภูไท เป็นต้น





เครื่องแต่งกาย


ชาวอีสานถือว่าการทอผ้าเป็นกิจกรรมยามว่างหลังจากฤดูการทำนา หรือว่างจากงานประจำอื่น ๆ ดังนั้นใต้ถุนบ้านของชาวอีสานในอดีตจะมีการกางหูกทอผ้ากันไว้แทบทุกครัวเรือน โดยผู้หญิงในวัยต่าง ๆ จะสืบทอดการทอผ้าตั้งแต่เด็ก โดยผ้าทอมือเหล่านี้ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย และผ้าไหม และจะถูกนำไปใช้ตัดเย็บทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม หมอน ที่นอน ผ้าห่ม และการทอผ้ายังเป็นการเตรียมผ้าสำหรับการออกเรือนของฝ่ายหญิง รวมถึงเป็นการผ้าที่ทอไว้สำหรับฝ่ายชายด้วย



ผ้าทอของภาคอีสาน สามารถจำแนกออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้

1. ผ้าทอสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยผ้าทอชนิดนี้จะเป็นผ้าพื้นไม่มีลวดลาย เพราะต้องการความทนทานจึงทอด้วยฝ้ายย้อมสี

2. ผ้าทอสำหรับโอกาสพิเศษ เช่น ใช้ในงานบุญประเพณีต่าง ๆ งานแต่งงาน งานฟ้อนรำ ดังนั้นผ้าทอจึงมักมีลวดลายสวยงาม และมีสีสันหลากหลาย

ทั้งนี้ จะมีประเพณีที่คู่กันมากับการทอผ้าคือการลงข่วง โดยบรรดาสาว ๆ ในหมู่บ้านจะพากันมารวมกลุ่มก่อกองไฟ บ้างก็สาวไหม บ้างก็ปั่นฝ้าย กรอฝ้าย ฝ่ายชายก็ถือโอกาสมาเกี้ยวพาราสีและนั่งคุยเป็นเพื่อน บางครั้งก็มีการนำดนตรีพื้นบ้านอย่าง พิณ แคน โหวต มาบรรเลงจ่ายผญาโต้ตอบกัน

เนื่องจากอีสานมีชนอยู่หลายกลุ่มวัฒนธรรม การผลิตผ้าพื้นเมืองจึงแตกต่างกันไปตามกลุ่มวัฒนธรรม เช่น กลุ่มอีสานใต้ คือกลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ เป็นกลุ่มที่มีการทอผ้าที่มีสีสันแตกต่างจากกลุ่มไทยลาว

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการแต่งกายของชาวอีสานทั่ว ๆ ไป คือ ผู้ชาย มักนิยมสวมเสื้อ ม่อฮ่อม ซึ่งเป็นเสื้อแขนสั้นสีเข้ม ๆ สวมกางเกงสีเดียวกับเสื้อจรดเข่า นิยมใช้ผ้าคาดเอวด้วยผ้าขาวม้า ขณะที่ ผู้หญิง มักสวมใส่ผ้าซิ่นแบบทอทั้งตัว สวมเสื้อคอกลม แขนยาว เล่นสีสัน แต่หากเป็นงานพิธีต่าง ๆ อาจมีการห่มผ้าสไบเฉียง สวมเครื่องประดับตามข้อมือ ข้อเท้า และคอ เพิ่มด้วย





อาหารประจำภาค





ในปัจจุบัน อาหารจากภาคอีสาน ถือเป็นอาหารยอดนิยมที่แพร่หลายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งเมนูที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี ได้แก่ เมนูส้มตำ โดยเฉพาะส้มตำไทย ที่สามารถรับประทานได้ทุกที่ ทุกเวลา เนื่องจากส้มตำมีส่วนประกอบหลักคือผัก และสามารถรับประทานคู่กับ ข้าวเหนียว ข้าวสวย ขนมจีน ได้ตามที่ต้องการ

นอกจากเมนูส้มตำแล้ว อาหารอีสานที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ได้แก่ ลาบ ก้อย ข้าวเหนียวไก่ย่าง ปลาร้าหลน ข้าวจี่ ผัดหมี่โคราช แกงอ่อม แกงผักหวานไข่มดแดง เป็นต้น

จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้นำเสนอไปนี้ อาจเป็นเพียงการทำความรู้จักกับภาคอีสานในแบบภาพรวมเท่านั้น เพราะแท้จริงแล้ว ศิลปะ และวัฒนธรรมของภาคอีสานยังมีความสลับซับซ้อน และน่าค้นหาอีกมาก อย่างไรก็ตาม หากมีโอกาสก็อย่าลืมไปเยือนอีสานถิ่นไทย เพื่อลองไปเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลายจากสถานที่จริงกันนะคะ


วัฒนธรรมภาคกลาง


ภาคกลางถือได้ว่าเป็นจุดศูนย์กลางของประเทศไทย ที่ครอบคลุมพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยที่ราบซึ่งเกิดจากการที่แม่น้ำพัดพาเอาเศษหิน เศษดิน กรวดทราย และตะกอนมาทับถมพอกพูนมานับเป็นเวลาล้าน ๆ ปี บริเวณที่ราบของภาคนี้ กินอาณาบริเวณตั้งแต่ทางใต้ของจังหวัดอุตรดิตถ์ลงไปจนจรดอ่าวไทย นับเป็นพื้นที่ราบที่มีขนาดกว้างใหญ่กว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ

ส่วนจังหวัดในภาคกลางนั้น ราชบัณฑิตยสถานได้แบ่งพื้นที่ประเทศไทยออกเป็น 6 ภาคตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อย่างเป็นทางการ โดยให้ภาคกลางประกอบไปด้วยเขตการปกครอง 22 จังหวัด (อ้างอิงจากวิกิพีเดีย) ดังนี้ ...

กรุงเทพมหานคร
กำแพงเพชร
ชัยนาท
นครนายก
นครปฐม

นครสวรรค์
นนทบุรี
ปทุมธานี
พระนครศรีอยุธยา
พิจิตร

พิษณุโลก
เพชรบูรณ์
ลพบุรี
สมุทรปราการ
สมุทรสงคราม

สมุทรสาคร
สระบุรี
สิงห์บุรี
สุโขทัย
สุพรรณบุรี

อ่างทอง
อุทัยธานี

นอกจากภาคกลางจะเป็นจุดศูนย์กลางทางด้านภูมิศาสตร์แล้ว ภาคกลางยังเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมของแต่ละภาคอีกด้วย เนื่องจากบางจังหวัดในภาคกลางคาบเกี่ยวระหว่างภาคต่าง ๆ มากมาย ซึ่งในวันนี้กระปุกดอทคอมก็ขอรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับภาคกลางมาฝากกันค่ะ ไปดูกันซิว่า ประเพณีและวัฒนธรรมของภาคกลาง จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างไรบ้าง...




เพลงพื้นบ้าน


เป็นที่รู้กันดีว่า เพลงพื้นบ้านของแต่ละภาคนั้น เกิดจากการที่ชาวบ้านเป็นผู้สร้างบทเพลงดังกล่าว และขับร้องสืบทอดต่อกันมากปากต่อปาก โดยส่วนมากเพลงพื้นบ้านจะเป็นเพลงที่มีคำร้องง่าย ๆ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น ๆ ส่วนในภาคกลาง เพลงพื้นบ้านก็จะแต่งมาจากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยแยกเป็นประเภท ได้ดังนี้

- เพลงที่ร้องเล่นในฤดูน้ำมาก ได้แก่ เพลงเรือ เพลงร่อยพรรษา เพลงรำภาข้าวสาร เพลงหน้าใย เพลงครึ่งท่อน เป็นต้น

- เพลงที่ร้องเล่นในฤดูเกี่ยวข้าวและนวดข้าว ได้แก่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเต้นรำกำเคียว เพลงจาก ซึ่งใช้ร้องเล่นระหว่างเกี่ยวข้าว สำหรับเพลงสงฟาง เพลงพานฟาง เพลงโอก เพลงสงคอลำพวน เพลงเตะข้าว และเพลงชักกระดานใช้ร้องเล่นระหว่างนวดข้าว

- เพลงที่ร้องเล่นในช่วงตรุษสงกรานต์ ได้แก่ เพลงสงกรานต์ เพลงหย่อย เพลงระบำบ้านไร่ เพลงช้าเจ้าหงส์ เพลงพวงมาลัย เพลงสันนิษฐาน เพลงคล้องช้าง เพลงใจหวัง เพลงฮินเลเล เพลงกรุ่น เพลงยั่ว เพลงชักเย่อ เพลงเข้าทรงต่าง ๆ เป็นต้น

- เพลงที่ร้องเล่นได้ทุกโอกาส เพื่อความเพลิดเพลิน สนุกสนาน และเกิดความสามัคคีในหมู่คณะมักจะร้องเล่นกันในโอกาสทำงานร่วมกัน หรือมีงานบุญและงานรื่นเริงต่าง ๆ โดยเป็นเพลงในลักษณะพ่อเพลงแม่เพลงอาชีพที่ใช้โต้ตอบกัน ได้แก่ เพลงเทพทอง เพลงปรบไก่ เพลงอีแซว เพลงฉ่อย เพลงลำตัด เพลงทรงเครื่อง เป็นต้น





เครื่องดนตรีพื้นบ้าน

ถ้าเอ่ยถึงเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ชาวภาคกลางก็มีดนตรีครบทุกประเภท ทั้ง ดีด สี ตี เป่า เรียกได้ว่า ครบเครื่องเลยทีเดียว เนื่องจากชาวภาคกลางก็ให้ความสำคัญกับเพลงพื้นบ้าน และมักจะร้องเพลงในหมู่คณะเพื่อให้เกิดความสามัคคีในการทำงานร่วมกัน สำหรับเรื่องดนตรีพื้นที่บ้านที่ชาวภาคกลางนิยมเล่นนั้น ได้แก่



ซอสามสาย : เป็นซอ ที่มีรูปร่างงดงามที่สุด ซึ่งมีใช้ในวงดนตรีไทย มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย (พ.1350) แล้ว ซอสามสายขึ้นเสียง ระหว่างสายเป็นคู่สี่ใช้บรรเลงในพระราชพิธี อันเนื่องด้วยองค์พระมหากษัตริย์ ภายหลังจึงบรรเลงประสมเป็นวงมโหรี



ซอด้วง : เป็นเครื่องสายชนิดหนึ่ง บรรเลงโดยการใช้คันชักสี กล่องเสียง ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ขึงหน้าด้วยหนังงู มีช่องเสียงอยู่ด้านตรงข้าม คันทวนทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร มีลูกบิดขึ้นสายอยู่ตอนบน ซอด้วงใช้สายไหมฟั่นหรือสายเอ็น มี 2 สาย ขนาดต่างกัน คันชักอยู่ระหว่างสาย ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ซอด้วงมีเสียงแหลม ใช้เป็นเครื่องดนตรีหลักในวงเครื่องสาย



ซออู้ : เป็นเครื่องสายใช้สี กล่องเสียงทำด้วยกะโหลกมะพร้าว ขึ้นหน้าด้วยหนังวัว มีช่องเสียง อยู่ด้านตรงข้าม คันทวนทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ตอนบนมีลูกบิดสำหรับขึงสาย สายซอทำด้วย ไหมฟั่น มีคันชักอยู่ระหว่างสาย ความยาวของคันซอประมาณ 60 เซนติเมตร คันชักประมาณ 50 เซนติมตร ซออู้มีเสียงทุ้มต่ำ บรรเลงคู่และสอดสลับกับซอด้วงในวงเครื่องสาย



จะเข้ : เป็นเครื่องสายที่ใช้บรรเลงด้วยการดีด โดยปกติมีขนาดความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร และยาว 140 เซนติเมตร ตัวจะเข้ทำด้วยไม้เนื้ออ่อน ขุดเป็นโพรง มีสาย 3 สาย สายที่ 1-2 ทำด้วยไหมฟั่น สายที่ 3 ทำด้วยทองเหลือง วิธีการบรรเลงมือซ้าย จะทำหน้าที่กดสายให้เกิดเสียง สูง - ต่ำ ส่วนมือขวาจะดีดที่สายด้วยวัตถุที่ทำจากงาสัตว์



ขลุ่ย : ของไทยเป็นขลุ่ยในตระกูลรีคอร์ดเดอร์ คือ มีที่บังคับแบ่งกระแสลม ทำให้เกิดเสียงในตัวไม่ใช่ขลุ่ยผิวตระกูลฟลุตแบบจีน ขลุ่ยไทยมีหลายขนาด ได้แก่ ขลุ่ยอู้มีเสียงต่ำที่สุด ระดับเสียงสูง ได้แก่ ขลุ่ยหลีบ และยังมี เสียงสูงกว่านี้ คือ ขลุ่ยกรวด หรือขลุ่ยหลีบกรวดอีกด้วย ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายและวงมโหรี



ปี่ : เป็นเครื่องเป่าที่มีลิ้น ทำด้วยใบตาล เป็นเครื่องกำเนิดเสียง เป็นประเภทลิ้นคู่ (หรือ 4 ลิ้น) เช่นเดียวกับ โอโบ (Oboe) มีหลายชนิดคือ ปี่นอก ปี่ใน ปี่กลาง ปี่มอญ ปี่ไทยที่เด่นที่สุด คือ ปี่ในตระกูลปี่ใน ซึ่งมีรูปิดเปิดบังคับลม เพียง 6 รู แต่สามารถบรรเลงได้ถึง 22 เสียง และสามารถเป่าเลียนเสียงคนพูดได้ชัดเจนอีกด้วย



ระนาดเอก : เป็นระนาดเสียงแหลมสูง ประกอบด้วยลูกระนาดที่ทำด้วยไม้ไผ่บงหรือไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ชิงชัน 21-22 ลูก ร้อยเข้าด้วยกันเป็นผืนระนาด และแขวนหัวท้ายทั้ง 2 ไว้บนกล่องเสียงที่ เรียกว่า รางระนาด ซึ่งมีรูปร่างคล้ายเรือ ระนาดเอก ทำหน้าที่นำวงดนตรีด้วย เทคนิคการบรรเลงที่ประณีตพิสดาร มักบรรเลง 2 แบบ คือ ตีด้วยไม้แข็ง เรียกว่า ปี่พาทย์ไม้แข็ง และตีด้วยไม้นวมเรียก ปี่พาทย์ไม้นวม ระนาดเอกเรียงเสียงต่ำไปหาสูงจากซ้ายไปขวา และเทียบเสียงโดยวิธีใช้ชันโรงผสม ผงตะกั่วติดไว้ด้านล่างทั้งหัวและท้ายของลูกระนาด



ระนาดทุ้ม : ทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็งมีผืนละ 18 ลูก มีรูปร่างคล้ายระนาดเอก แต่เตี้ยกว่าและกว้างกว่าเล็กน้อย ระนาดทุ้มใช้บรรเลงหยอกล้อกับระนาดเอก



ฆ้องวงใหญ่ : เป็นหลักของวงปี่พาทย์ และวงมโหรีใช้บรรเลงทำนองหลัก มีลูกฆ้อง 16 ลูก ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ

- ลูกฆ้อง เป็นส่วนกำเนิดเสียงทำด้วยโลหะผสม มีลักษณะคล้ายถ้วยกลม ๆ ใหญ่เล็กเรียงตามลำดับเสียงต่ำสูง ด้านบนมีตุ่มนูนขึ้นมาใช้สำหรับตีและใต้ตุ่มอุดไว้ด้วยตะกั่วผสมชันโรง เพื่อถ่วงเสียงให้สูงต่ำตามต้องการ

- เรือนฆ้อง ทำด้วยหวายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้วเศษ ขดเป็นวง และยึดไว้ด้วยไม้เนื้อแข็ง กลึงเป็นลวดลายคล้ายลูกกรง และมีไม้ไผ่เหลาเป็นซี่ ๆ ค้ำยันให้ฆ้องคงตัวเป็นโครงสร้างอยู่ได้ การผูกลูกฆ้องแขวนเข้ากับเรือนฆ้องผูกด้วยเชือก

ฆ้องวงเล็ก : มีขนาดเล็กกว่า แต่เสียงสูงกว่าฆ้องวงใหญ่มีวิธีตีเช่นเดียวกับฆ้องวงใหญ่ แต่ดำเนินทำนองเป็นทางเก็บหรือทางอื่นแล้วแต่กรณี บรรเลงทำนองแปรจากฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็กมี 18 ลูก



โทนรำมะนา : รูปร่างคล้ายกลองยาวขนาดเล็ก ทำด้วยไม้ หรือดินเผา ขึงด้วยหนังดึงให้ตึงด้วยเชือกหนัง ตัวกลองยาวประมาณ 34 เซนติเมตร ตรงกลางคอด ด้านตรงข้ามหน้ากลองคล้ายทรงกระบอก ปากบานแบบลำโพง ตรงเอวคอดประมาณ 12 เซนติเมตร ใช้ตีคู่กับรำมะนา ส่วนรำมะนานั้น เป็นกลองทำหนังหน้าเดียวมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 22 เซนติเมตร ใช้ในวงเครื่องสาย



กลองแขก : กลองที่ตีหน้าทับได้ทั้งในวงปี่พาทย์ มโหรีและบางกรณีใช้ในวงเครื่องสายก็ได้ ตีด้วยมือทั้ง 2 หน้า คู่หนึ่งประกอบด้วยตัวผู้ (เสียงสูง) และตัวเมีย (เสียงต่ำ)

กลองสองหน้า : เป็นชื่อของกลองชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเหมือนกลองลูกหนึ่งในเปิงมางคอก ขึงด้วยหนังเลียดรอบตัว ใช้ในวงปี่พาทย์ หรือมโหรีบางกรณี





นิทานพื้นบ้าน

นิทานพื้นบ้านภาคกลาง เป็นสิ่งที่ความบันเทิงเริงใจแก่ผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นการหยิบยกเอาเรื่องใกล้ตัว เรื่องเก่าแก่สมัยประวัติศาสตร์ หรือเรื่องเล่าตั้งแต่ชนชั้นจนถึงระดับคนยากคนจน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเทวดาฟ้าดินมาให้ลูกหลานได้ฟังหลายต่อหลายเรื่อง โดยท้ายเรื่องของนิทานนั้น ๆ มักจะสอดแทรกคติสอนใจ และข้อคิดดี ๆ ให้ได้ฟังพร้อมคิดตามอยู่เสมอ ๆ

สำหรับนิทานพื้นบ้านทางภาคกลาง ที่เป็นที่นิยมเล่าสืบต่อกันมามีหลายเรื่องเลยทีเดียวที่สนุกสนาน และนำมาทำเป็นการ์ตูน หรือละครให้ได้ชมกันอย่างมากมาย อาทิ ไกรทอง, สองพี่น้อง, บางแม่หม้าย, ตาม่องล่าย, เจ้าชายสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยดอกหมาก, เรื่องกล่องข้าวน้อย, ขุนช้างขุนแผน เป็นต้น





การละเล่นพื้นบ้าน

การละเล่นพื้นบ้านของชาวภาคกลางนั้น มีทั้งการละเล่นแบบที่ใช้อุปกรณ์เป็นตัวเชื่อมการเล่น หรือการละเล่นเป็นกลุ่ม บ้างก็เป็นการละเล่นแบบเดี่ยว แต่ส่วนมากมักจะมีการร้องเพลงประกอบการละเล่นต่าง ๆ อาทิ หมากเก็บ, ว่าว, ตี่จับ, รำตง, การเล่นโม่ง, สะบ้าล้อ, เพลงเรือบก, คำทาย (โจ๊กปริศนา), เพลงปรบไก่, กลองยาว, หลุมเมือง, เพลงเรืออยุธยา, การแข่งขันวัวลาน, เพลงปรบไก่, การทอยสะบ้า, นางลิงลม, การเข้าผีนางด้ง ฯลฯ







การแต่งกาย


ในปัจจุบันการแต่งกายของแต่ละภาคได้รับความกลมกลืนกันไปหมด เนื่องมาจากถูกครอบคลุมสิ่งที่เรียกว่าแฟชั่น จึงทำให้การแต่งกายมีความคล้ายคลึงกันไปหมด จนแยกแยะไม่ค่อยออกว่าบุคคลไหนอาศัยอยู่ในภาคใด แต่หากย้อนกลับถึงการแต่งกายในชีวิตประจำวันทั่วไป ผู้ชายจะนุ่งกางเกงครึ่งน่อง สวมเสื้อแขนสั้น คาดผ้าขาวม้า ส่วนผู้หญิง จะนุ่งซิ่นยาว สวมเสื้อแขนสั้นหรือยาว

แต่หากเป็นชุดไทย สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ผู้ชายจะนิยมสวมใส่โจงกระเบนสวมเสื้อสีขาว ติดกระดุม 5 เม็ด ที่เรียกว่า "ราชประแตน" ไว้ผมสั้นข้าง ๆ ตัดเกรียนถึงหนังศีรษะข้างบนหวีแสกกลาง ส่วนผู้หญิงจะนิยมสวมใส่ผ้าซิ่นยาวครึ่งแข้ง ห่มสไบเฉียงตามสมัยอยุธยา ทรงผมเกล้าเป็นมวย และสวมใส่เครื่องประดับเพื่อความสวยงาม







อาหารประจำภาค


เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของภาคกลางเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำคลอง หนองบึงมากมาย จึงเป็นแหล่งอาหารทั้งพืชผักและสัตว์น้ำนานาชนิด พื้นที่บางส่วนติดชายฝั่งทะเลทำให้วัตถุดิบ ในการประกอบอาหารหลากหลายอุดมสมบูรณ์ ส่วนอาหารภาคกลางนั้นก็จะมีความหลากหลาย ทั้งในเรื่องการปรุง รสชาติ และการตกแต่งให้หน้าตาอาหารน่ารับประทาน นอกจากนี้ อาหารภาคกลางบางชนิด ยังได้รับอิทธิพลมาจากอาหารของราชสำนักอีกด้วย

สำหรับอาหารของภาคกลางนั้น มักจะมีน้ำพริกและผักจิ้ม โดยจะรับประทานกับข้าวสวยเป็นหลัก และส่วนมากจะน้ำพริกต่าง ๆ นั้น จะได้รับการผสมผสานระหว่างภาคต่าง ๆ เช่น แกงไตปลา ปลาร้า น้ำพริกอ่อง น้ำพริกปลาทู ต้มยำ ผัดเผ็ด ข้าวผัด แกงส้ม ผัดไทย เป็นต้น

และจากข้อมูลที่เราได้นำเสนอข้างต้น เป็นเพียงขนบธรรมเนียมและประเพณีแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของภาคกลางเท่านั้น หากใครอยากทำความรู้จักกับภาคกลางให้มากขึ้นกว่าเดิม ก็อย่าลืมมาท่องเที่ยวชมโบราณสถาน หรือสัมผัสวัฒนธรรมประเพณีตามแบบฉบับภาคกลางกันนะคะ "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นหรือจะสู้มือคลำ" แต่จะว่าไป แค่มือคลำอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องลองมาสัมผัสจากสถานที่จริง ๆ กันดูนะคะ ^^


วัฒนธรรมภาคใต้

ภาคใต้ เป็นดินแดนแห่งหมู่เกาะและท้องทะเลอันงดงาม อีกทั้งยังมีอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติมากมาย นอกจากนี้ ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวใต้ยังโดดเด่นมีเอกลักษณ์และเปี่ยมเสน่ห์ชวนให้เข้าไปสัมผัสและเรียนรู้อย่างใกล้ชิด จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในแต่ละปีภาคใต้จัดเป็นอีกภาคที่มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมาเที่ยวชมมากมาย

          เอาล่ะค่ะ...วันนี้กระปุกดอทคอมก็จะนำเสนอเรื่องราวของวัฒนธรรมและประเพณีที่น่าสนใจของภาคใต้มาให้เพื่อน ๆ ทราบกันค่ะ

สำหรับจังหวัดในภาคใต้ จากการแบ่งพื้นที่ตามราชบัณฑิตยสถาน มีทั้งสิ้น 14 จังหวัด ดังนี้

1. กระบี่
2. ชุมพร
3. ตรัง
4. นครศรีธรรมราช
5. นราธิวาส
6. ปัตตานี
7. พังงา
8. พัทลุง
9. ภูเก็ต
10. ยะลา
11. ระนอง
12. สงขลา
13. สตูล
14. สุราษฎร์ธานี

 เพลงพื้นบ้านประจำภาคใต้

          ดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ มีลักษณะเรียบง่าย มีการประดิษฐ์เครื่องดนตรีจากวัสดุใกล้ตัวซึ่งสันนิษฐานว่าดนตรีพื้นบ้านดั้งเดิมของภาคใต้น่าจะมาจากพวกเงาะซาไก ที่ใช้ไม่ไผ่ลำขนาดต่าง ๆ กัน ตัดออกมาเป็นท่อนสั้นบ้างยาวบ้าง แลัวตัดปากของกระบอกไม้ไผ่ให้ตรงหรือเฉียงพร้อมกับหุ้มด้วยใบไม้หรือกาบของต้นพืช ใช้ตีประกอบการขับร้องและเต้นรำ

          จากนั้นก็ได้มีการพัฒนาเป็นเครื่องดนตรีแตร กรับ กลองชนิดต่าง ๆ เช่น รำมะนา ที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวมลายู กลองชาตรีหรือกลองตุ๊กที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงมโนราห์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ตลอดจนเครื่องเป่า เช่น ปี่นอกและเครื่องสี เช่น ซอด้วง ซออู้ รวมทั้งความเจริญทางศิลปะ การแสดง และดนตรีของเมืองนครศรีธรรมราช จนได้ชื่อว่าละคอน

          นอกจากนี้ ยังมีการบรรเลงดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ประกอบการละเล่นแสดงต่าง ๆ เช่น ดนตรีโนรา ดนตรีหนังตะลุง ที่มีเครื่องดนตรีหลักคือ กลอง โหม่ง ฉิ่ง และเครื่องดนตรีประกอบผสมอื่น ๆ ดนตรีลิเกป่าที่ใช้เครื่องดนตรีรำมะนา โหม่ง ฉิ่ง กรับ ปี่ และดนตรีรองเง็ง ที่ได้รับแบบอย่างมาจากการเต้นรำของชาวสเปนหรือโปรตุเกสมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมีการบรรเลงดนตรีที่ประกอบด้วย ไวโอลิน รำมะนา ฆ้อง หรือบางคณะก็เพิ่มกีตาร์เข้าไปด้วย ซึ่งดนตรีรองเง็งนี้เป็นที่นิยมในหมู่ชาวไทยมุสลิมตามจังหวัดชายแดนไทย-มาเลเซีย

          ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าลักษณะเด่นของดนตรีพื้นบ้านภาคใต้จะได้รับอิทธิพลมาจากดินแดนใกล้เคียงหลายเชื้อชาติ จนเกิดการผสมผสานเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจากภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเน้นจังหวะและลีลาที่เร่งเร้า หนักแน่น และคึกคัก เป็นต้น เพลงพื้นบ้านเกิดจากชาวบ้านเป็นผู้สร้างบทเพลงและสืบทอดกันมาแบบปากต่อปากโดยการจดจำบทเพลงเป็นคำร้องง่าย ๆ ที่เป็นเรื่องราวใกล้ตัวในท้องถิ่นนั้น ๆ จึงทำให้เพลงพื้นบ้านของไทยในภาคต่าง ๆ มีความแตกต่างกันออกไป





 เพลงพื้นเมืองภาคใต้

          เพลงพื้นบ้านภาคใต้ มีอยู่ประมาณ 8 ชนิด มีทั้งการร้องเดี่ยวและการร้องเป็นหมู่คณะ โดยสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

          1. เพลงที่ร้องเฉพาะโอกาสหรือในฤดูกาล ได้แก่เพลงเรือ เพลงบอก เพลงนาคำตัก เพลงกล่อมนาคหรือเพลงแห่นาคเป็นต้น

          2. เพลงที่ร้องไม่จำกัดโอกาส ได้แก่ เพลงตันหยง ซึ่งนิยมร้องในงานบวช งานแต่งงาน งานขึ้นปีใหม่ และงานมงคลต่าง ๆ เพลงเด็กที่ร้องกล่อมเด็กให้หลับ และเพลงฮูลู หรือลิเกฮูลู ที่เป็นการร้องคล้าย ๆ ลำตัด โดยมีรำมะนา เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะกับบทขับร้องภาษาท้องถิ่นคือภาษามลายูเป็นกลอน โต้ตอบ




คลิป เพลงบอกปากฉลุย โพสต์โดยคุณ thachang201 สมาชิกเว็บไซด์ยูทูบดอทคอม



คลิป ลิเกฮูลู รักกันไว้เถิด ตันหยงลิมอ โพสต์โดยคุณ anipisiri สมาชิกเว็บไซด์ยูทูบดอทคอม



คลิป เพลงต้นโหยง โพสต์โดยคุณ nathalang1 สมาชิกเว็บไซด์ยูทูบดอทคอม


 เครื่องดนตรีพื้นบ้านภาคใต้

          1. ทับ เป็นเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญ ในการให้จังหวะ และควบคุมการเปลี่ยนแปลงจังหวะ

          2. กลองโนรา ใช้ประกอบการแสดงโนรา หรือหนังตะลุง โดยทั่วไปมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของหน้า

          3. โหม่ง เป็นเครื่องดนตรี ที่มีส่วนสำคัญในการขับบท ทั้งในด้านการให้เสียง




          4. ปี่ เครื่องดนตรีชนิดนี้มีความสำคัญในการเสริมเสียงสะกดใจผู้ชม

          5. แตระพวงหรือกรับพวง เป็นเครื่องประกอบจังหวะทำจากไม้เนื้อแข็ง

          6. กลองหนัง รูปร่างลักษณะเป็นเครื่องดนตรีประเภทตี เป็นกลองสองหน้าตัวกลองทำจากไม้เนื้อแข็ง ข้างในกลวงขึ้นหน้าด้วยหนังวัว หรือ หนังแพะทั้งสองด้าน ตีด้วยไม้ 1 คู่ เวลาตีต้องตั้งกลองไว้ที่พื้น หรือขาตั้ง เพื่อให้ตีได้สะดวก ประวัติมีมาแต่โบราณ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ นิยมใช้ในการละเล่นของภาคใต้ทั่วไป จังหวัดที่นิยมบรรเลง ทุกจังหวัดทางภาคใต้ โอกาสที่บรรเลง งานมงคลและงานอวมงคลทั่วไป

          7. โพน เป็นเครื่องดนตรีประเภทตีเป็นกลองสองหน้า ตัวกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ตรงกลางตัวกลองด้านบนมีหูโลหะตรึงไว้สำหรับแขวนและตีด้วยไม้ขึงด้วยหนังวัว 2 ด้าน ไม่ทราบประวัติที่แน่นอน นิยมตีแข่งขันเสียงดังแต่บางครั้งจะใช้ตีประกอบกับฆ้องเดี่ยวไม่ใช้ประสมวงดนตรีจังหวัดที่นิยมบรรเลงทุกจังหวัดในภาคใต้ โอกาสที่บรรเลงตีเป็นสัญญาณเวลาพระฉันเพลหรือลงโบสถ์ และใช้ตีในขบวนการแห่พระตลอดจนใช้ตีแข่งขันความดังกัน เรียกว่า "จันโพน"




          8. กลองแขก เป็นเครื่องดนตรีประเภทตีเป็นกลองสองหน้ามีลักษณะคล้ายปืด แต่เล็กกว่า ตัวกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็งหน้ากลองทำด้วยหนังนากหรือหนังเสือปลา วิธีตีกลองจะตีด้วยไม้มีลักษณะรูปโค้ง และใช้มือตีอีกด้านของหนัง

          9. ฆ้องคู่ จัดเป็นเครื่องดนตรีประเภทตีฆ้องแฝด ตัวฆ้องทำด้วยโลหะผสมตีด้วยไม้หุ้มนวมแขวนอยู่ในกลอง ไม้สี่เหลี่ยมเจาะรูให้เสียงออกประวัติ มีเล่นกันมาช้านานแล้วใช้บรรเลงในวงดนตรีประกอบด้วย ทับ กลองหนัง ฉิ่ง และปี่












 การแสดงพื้นเมืองภาคใต้


          ศิลปะการรำและการละเล่นของชาวพื้นบ้านภาคใต้อาจแบ่งตามกลุ่มวัฒนธรรมได้ 2 กลุ่มคือ


          - วัฒนธรรมไทยพุทธ ได้แก่ การแสดงโนรา หนังตะลุง เพลงบอก เพลงนา

          - วัฒนธรรมไทยมุสลิม ได้แก่ รองเง็ง ซำแปง มะโย่ง (การแสดงละคร) ลิเกฮูลู (คล้ายลิเกภาคกลาง) และซิละ


           1. โนรา เป็นนาฏศิลป์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาศิลปะการแสดงของภาคใต้ มีความยั่งยืนมานับเป็นเวลาหลายร้อยปี การแสดงโนราเน้นท่ารำเป็นสำคัญ ต่อมาได้นำเรื่องราวจากวรรณคดีหรือนิทานท้องถิ่นมาใช้ในการแสดงเรื่อง พระสุธนมโนห์รา เป็นเรื่องที่มีอิทธิพลต่อการแสดงมากที่สุดจนเป็นเหตุให้เรียกการแสดงนี้ว่า มโนห์รา

          ตามตำนานของชาวใต้เกี่ยวกับกำเนิดของโนรา มีความเป็นมาหลายตำนานในแต่ละจังหวัด ทั้งชื่อที่ปรากฏในเรื่องและเนื้อเรื่องบางตอน ทั้งนี้อาจสืบเนื่องมาจากความคิด ความเชื่อ ตลอดจนวิธีสืบทอดที่ต่างกัน จึงทำให้รายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละตำนานแตกต่างกัน

          จากการศึกษาท่ารำอย่างละเอียดจะเห็นว่าท่ารำที่สืบทอดกันมานั้น ได้มาจากความประทับใจที่มีต่อธรรมชาติ อาทิ ท่าลีลาของสัตว์บางชนิด เช่น ท่ามัจฉา ท่ากวางเดินดง ท่านกแขกเต้าเข้ารัง ท่าหงส์บิน ท่ายูงฟ้อนหาง ฯลฯ ท่าเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ท่าพระจันทร์ทรงกลด ท่ากระต่ายชมจันทร์

          ต่อมาเมื่อได้รับวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามาก็มีท่าพระลักษณ์แผลงศร พระรามน้าวศิลป์ และท่าพระพุทธเจ้าห้ามมาร ท่ารำและศิลปะการรำต่าง ๆ ของโนรา ท่านผู้รู้หลายท่านเชื่อว่าเป็นต้นแบบของละครชาตรีและการรำแม่บทของรำไทยด้วย

          ท่ารำโนรามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผู้ที่ฝึกหัดนาฏศิลป์ของภาคกลางแล้วจะรำท่าของโนราไม่สวย เพราะการทรงตัว การทอดแขน ตั้งวงหรือลีลาต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ผู้ที่จะรำโนราได้สวยงามจะต้องมีพื้นฐานการทรงตัว ดังนี้

          - ช่วงลำตัว จะต้องแอ่นอกอยู่เสมอ หลังจะต้องแอ่นและลำตัวยื่นไปข้างหน้า ไม่ว่าจะรำท่าไหน หลังจะต้องมีพื้นฐานการวางตัวเช่นนี้เสมอ

          - ช่วงวงหน้า วงหน้า หมายถึง ส่วนลำคอกระทั่งศีรษะ จะต้องเชิดหน้าหรือแหงนขึ้นเล็กน้อยในขณะรำ

          - ช่วงหลัง ส่วนก้นจะต้องงอนเล็กน้อย

          การย่อตัวเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง การรำโนรานั้นลำตัวหรือทุกส่วนจะต้องย่อลงเล็กน้อย นอกจากย่อลำตัวแล้ว เข่าจะต้องย่อลงด้วย






วิธีการแสดง

          การแสดงโนราเริ่มต้นจากการลงโรง (โหมโรง) กาดโรงหรือกาดครู (เชิญครู) "พิธีกาดครู" ในโนราถือว่าครูเป็นเรื่องสำคัญมาก ฉะนั้นก่อนที่จะรำจะต้องไหว้ครู เชิญครูมาคุ้มกันรักษา หลายตอนมีการรำพัน สรรเสริญครู  สรรเสริญคุณมารดา เป็นต้น

การแต่งกาย

          การแต่งกายของโนรา ยกเว้นตัวพรานกับตัวตลก จะแต่งเหมือนกันหมด ตามขนบธรรมเนียม เดิมการแต่งกายก็ถือเป็นพิธีทางไสยศาสตร์ ในพิธีผูกผ้าใหญ่ (คือพิธีไหว้ครู) จะต้องนำเทริดและเครื่องแต่งกายชิ้นอื่น ๆ ตั้งบูชาไว้บนหิ้ง หรือ "พาไล" และเมื่อจะสวมใส่เครื่องแต่งกายแต่ละชิ้นจะมีคาถากำกับ โดยเฉพาะการสวม "เทริด" ซึ่งมักจะต้องใช้ผ้ายันต์สีขาวโพกศีรษะเสียก่อนจึงจะสวมเทริดทับ

         เทริด คือ เครื่องสวมหัวโนรา เดิมนั้นเทริดเป็นเครื่องทรงกษัตริย์ทางอาณาจักรแถบใต้ อาจเป็นสมัยศรีวิชัยหรือศรีธรรมราช เมื่อโนราได้เครื่องประทานจากพระยาสายฟ้าฟาดแล้วก็เป็นเครื่องแต่งกายของโนราไป สมัยหลังเมื่อจะทำเทริดจึงมีพิธีทางไสยศาสตร์เข้าไปด้วย

วงดนตรีประกอบ

          เครื่องดนตรีโนรามี 2 ประเภท คือ

          1. ประเภทเครื่องตี ได้แก่ กลองทับ โหม่ง (ฆ้องคู่) ฉิ่ง แกระหรือแตระ (ไม้ไผ่ 2 อัน ใช้ตีให้จังหวะ)

          2. ประเภทเครื่องเป่า ได้แก่ ปี่

โอกาสที่แสดง

          การแสดงโนรามีแสดงทั่วไปในภาคใต้ แต่เดิมได้รับความนิยมมาก จึงแสดงเพื่อความบันเทิงไม่นิยมแสดงในงานศพและในงานมงคลสมรส ถ้าเป็นงานใหญ่ก็มักจะให้แข่งขัน หรือประชันกันซึ่งทำมากเมื่อ 40 ปีก่อน

           2. รองเง็ง การเต้นรองเง็งสมัยโบราณ เป็นที่นิยมกันในบ้านขุนนาง หรือเจ้าเมืองในสี่จังหวัดชายแดน เดิมการเต้นรองเง็งจะมีลีลาตามบทเพลงไม่น้อยกว่า 10 เพลง แต่ปัจจุบันนี้ที่นิยมเต้นมีเพียง 7 เพลงเท่านั้น

วิธีการแสดง

          การเต้นรองเง็ง ส่วนใหญ่มีชายหญิงฝ่ายละ 5 คน โดยเข้าแถวแยกเป็นชายแถวหนึ่งหญิงแถวหนึ่งยืนห่างกันพอสมควร ความสวยงามของการเต้นรองเง็งอยู่ที่ลีลาการเคลื่อนไหวของเท้า มือ ลำตัว และลีลาการร่ายรำ ตลอดจนการแต่งกายของคู่ชายหญิง และความไพเราะของดนตรีประกอบกัน

การแต่งกาย

          ผู้ชายแต่งกายแบบพื้นเมือง สวมหมวกไม่มีปีกหรือใช้หมวกแขกสีดำ นุ่งกางเกงขายาวกว้างคล้ายกางเกงจีน สวมเสื้อคอกลมแขนยาวผ่าครึ่งอกสีเดียวกับกางเกง ใช้โสร่งยาวเหนือเข่าสวมทับกางเกงเรียกว่า ซอแกะ

เครื่องดนตรีและเพลงประกอบ ดนตรีที่ใช้ประกอบการเต้นรองเง็ง มี 3 อย่าง คือ

          1. รำมะนา
          2. ฆ้อง
          3. ไวโอลิน

โอกาสที่แสดง

          เดิมรองเง็งแสดงในงานต้อนรับแขกเมืองหรืองานพิธีต่าง ๆ ต่อมานิยมแสดงในงานรื่นเริง เช่น งานประจำปี งานอารีรายอ ตลอดจนการแสดงโชว์ในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน

          3. ระบำตารีกีปัส ตารีกีปัสเป็นระบำที่ต้องอาศัยพัดเป็นองค์ประกอบสำคัญ เป็นการแสดงที่แพร่หลายในหมู่ชาวไทยมุสลิม โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี สำหรับลีลาของการแสดงอาจจะมีพลิกแพลงแตกต่างกันไป สำหรับการแสดงชุดนี้ ได้ปรับปรุงท่ารำ เพื่อให้เหมาะสมกับการแสดงที่เป็นหญิงล้วน

          ส่วนเครื่องดนตรีประกอบการแสดง ได้แก่ ไวโอลิน แมนตาลิน ขลุ่ย รำมะนา ฆ้อง มาลากัส บทเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง เพลงตารีกีปัส เป็นเพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง บรรเลงดนตรีล้วน ๆ มีท่วงทำนองไพเราะอ่อนหวาน สนุกสนานเร้าใจ ความไพเราะของเพลงตารีกีปัส อยู่ที่การโซโลเสียงดนตรีทีละชิ้น







          4. ลิเกฮูลู หรือ ดีเกฮูลู เป็นการละเล่นขึ้นบทเป็นเพลงประกอบดนตรีและจังหวะตบมือ มีรากฐานเดิมมาจากคำว่า ลิเก คือการอ่านทำนองเสนาะ และคำว่า ฮูลู ซึ่งหมายถึง ทิศใต้ ซึ่งเมื่อรวมความแล้ว คือ การขับกลอนเป็นทำนองเสนาะจากทิศใต้ บทกลอนที่ใช้ขับเรียกว่า ปันตน หรือ ปาตง ในภาษามลายูถิ่นปัตตานี

          ผู้รู้บางท่านได้กล่าวไว้ว่า ลิเกฮูลู เกิดขึ้นเริ่มแรกที่อำเภอรามัน ซึ่งไม่ทราบแน่นอนว่าผู้ริเริ่มนี้คือใคร ชาวปัตตานีเรียกคนในอำเภอรามันว่า คนฮูลู แต่ชาวมาเลเซียเรียกศิลปะชนิดนี้ว่า ดีเกปารัต ซึ่ง ปารัต แปลว่า เหนือ จึงเป็นที่ยืนยันได้ว่า ลิเกฮูลู หรือ ดีเกปารัต นี้มาจากทางทิศเหนือของประเทศมาเลเซียและอยู่ทางตอนใต้ของปัตตานี

ลักษณะการแสดง

          ลิเกฮูลูคณะหนึ่ง ๆ จะมีประมาณ 10 คน เป็นชายล้วน มีต้นเสียง 1-3 คน ที่เหลือจะเป็นลูกคู่ เวทีลิเกฮูลู จะยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร เปิดโล่งไม่มีม่าน ไม่มีฉาก ลูกคู่ขึ้นไปนั่งล้อมวงร้องรับและตบมือโยกตัวให้เข้ากับจังหวะดนตรี ส่วนผู้ร้องหรือผู้โต้กลอนจะลุกขึ้นยื่นข้าง ๆ วงลูกคู่ ถ้ากรณีมีการประชันกัน แต่ละคณะจะขึ้นนั่งบนเวทีด้วยกัน แต่ล้อมวงแยกกันพอสมควร การแสดงที่ผลัดกันร้องทีละรอบทั้งรุกและรับเป็นที่ครึกครื้นสบอารมณ์ของผู้ชม

          ลิเกฮูลู เริ่มต้นด้วยการแสดงด้วยดนตรีที่ใช้โหมโรงเป็นการเรียกผู้ชม ต่อจากนั้นนักร้องออกมาร้องเพลงในจังหวะต่าง ๆ ทีละคน เนื้อร้องกล่าวถึงความประสงค์ในการเล่น แล้วจึงเริ่มแสดง ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวของเหตุการณ์บ้านเมือง ปัญหาท้องถิ่นหรือเรื่องตลกโปกฮา ผู้แสดงจะต้องใช้คารมและปฏิภาณ ให้ทั้งความรู้และความบันเทิงแก่ผู้ชม

การแต่งกาย

          ผู้เล่นลิเกฮูลูนิยมนุ่งกางเกงขายาว นุ่งผ้าซอแกะทับข้างนอกสั้นเหนือเข่า สวมเสื้อคอกลมมีผ้าโพกศีรษะ

เครื่องดนตรีประกอบ

           เล่นลิเกฮูลู ประกอบด้วยรำมะนา อย่างน้อย ๒ ใบ ใช้ตีดำเนินจังหวะในการแสดง ฆ้องเป็นเครื่องกำกับจังหวะ ตีสม่ำเสมอประกอบการร้อง นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบและเป็นที่นิยมกันว่า ทำให้ครึกครื้น สนุกสนานไพเราะมากยิ่งขึ้น เช่น ขลุ่ย ลูกแซก แต่จังหวะที่ใช้เป็นประเพณีในการละเล่นคือ การตบมือ

โอกาสที่แสดง

          ลิเกฮูลูนิยมแสดงในงานมาแกปูโละ พิธีเข้าสุนัต และงานฮารีรายอ





 การแต่งกายประจำภาคใต้

          ประชาชนในภาคนี้มีการแต่งกายต่างกันตามเชื้อชาติ ทำให้การใช้วัสดุและรูปแบบมีเอกลักษณ์ไปตามเชื้อชาติ ถ้าเชื้อสายจีนจะแต่งแบบจีน ถ้าเป็นชาวมุสลิม ก็จะแต่งคล้ายกับชาวมาเลเซีย

          1. กลุ่มเชื้อสายจีน-มลายู เรียกชนกลุ่มนี้ว่ายะหยา หรือ ยอนย่า เป็นกลุ่มชาวจีน เชื้อสายฮกเกี้ยนที่มาสมรสกับชนพื้นเมืองเชื้อสายมลายู ชาวยะหยาจึงมีการแต่งกายอันสวยงามที่ผสมผสานรูปแบบของชาวจีนและมลายูเข้าด้วยกันอย่างงดงาม ฝ่ายหญิงใส่เสื้อฉลุลายดอกไม้ รอบคอ, เอว และปลายแขนอย่างงดงาม นิยมนุ่งผ้าซิ่นปาเต๊ะ ฝ่ายชายยังคงแต่งกาย คล้ายรูปแบบจีนดั้งเดิมอยู่





          2. กลุ่มชาวไทยมุสลิม ชนดั้งเดิมของดินแดนนี้นับถือศาสนาอิสลาม และมีเชื้อสายมลายู ยังคงแต่งกายตามประเพณี อันเก่าแก่ฝ่ายหญิงมีผ้าคลุมศีรษะ ใส่เสื้อผ้ามัสลิน หรือลูกไม้ตัวยาวแบบมลายูนุ่งซิ่นปาเต๊ะหรือซิ่นทอแบบมลายู ฝ่ายชายใส่เสื้อคอตั้ง สวมกางเกงขายาว และมีผ้าโสร่งผืนสั้น ที่เรียกว่า ผ้าซองเก็ต พันรอบเอวถ้าอยู่ บ้านหรือลำลองจะใส่โสร่ง ลายตารางทอด้วยฝ้าย และสวมหมวกถัก หรือเย็บด้วยผ้ากำมะหยี่


          3. กลุ่มชาวไทยพุทธ ชนพื้นบ้าน แต่งกายคล้ายชาวไทยภาคกลาง ฝ่ายหญิงนิยมนุ่งโจงกระเบน หรือผ้าซิ่นด้วย ผ้ายกอันสวยงาม ใส่เสื้อสีอ่อนคอกลม แขนสามส่วน ส่วนฝ่ายชายนุ่งกางเกงชาวเล หรือ โจงกระเบนเช่นกัน สวมเสื้อผ้าฝ้ายและมีผ้าขาวม้าผูกเอวหรือพาดบ่าเวลาออกนอกบ้านหรือไปงานพิธีกลับหน้า








 อาหารพื้นบ้านภาคใต้

อาหารพื้นบ้านภาคใต้ทั่วไป มีลักษณะผสมผสานระหว่างอาหารไทยพื้นบ้านกับอาหารอินเดียใต้ เช่น น้ำบูดู ซึ่งได้มาจากการหมักปลาทะเลสดผสมกับเม็ดเกลือ และมีความคล้ายคลึงกับอาหารมาเลเซีย อาหารของภาคใต้จึงมีรสเผ็ดมากกว่าภาคอื่น ๆ และด้วยสภาพภูมิศาสตร์อยู่ติดทะเลทั้งสองด้าน มีอาหารทะเลอุดมสมบูรณ์ แต่สภาพอากาศร้อนชื้น ฝนตกตลอดปี อาหารประเภทแกงและเครื่องจิ้มจึงมีรสจัด ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ป้องกันการเจ็บป่วยได้อีกด้วย แกงที่มีชื่อเสียงของภาคใต้ คือ แกงเหลือง แกงไตปลา เครื่องจิ้มก็คือ น้ำบูดู และชาวใต้ยังนิยมนำน้ำบูดูมาคลุกข้าวเรียกว่า "ข้าวยำ" มีรสเค็มนำและมีผักสดหลายชนิดประกอบ



          นอกจากนี้ ยังมีผักหลายชนิดที่คนภาคใต้นิยมรับประทานกันจนเป็นเอกลักษณ์ของอาหารภาคใต้ ได้แก่ ฝักสะตอ มีลักษณะเป็นฝักยาว สีเขียว เวลารับประทานต้องปอกเปลือกแล้วแกะเม็ดออก ใช้ทั้งเม็ด หรือนำมาหั่นปรุงอาหารโดยใช้ผัดกับเนื้อสัตว์หรือใส่ในแกง นอกจากนี้ยังใช้ต้มกะทิรวมกับผักอื่น ๆ หรือใช้เผาทั้งเปลือกให้สุกแล้วแกะเม็ดออกรับประทานกับน้ำพริก หรือจะใช้สด ๆ โดยไม่ต้องเผาก็ได้ ถ้าต้องการเก็บไว้นาน ๆ ควรดองเก็บไว้

          เม็ดเหรียง เป็นคำเรียกของคนภาคใต้ มีลักษณะคล้ายถั่วงอกหัวโต แต่หัวและหางใหญ่กว่ามาก สีเขียว เวลาจะรับประทานต้องแกะเปลือกซึ่งเป็นสีดำออกก่อน จะนำไปรับประทานสด ๆ หรือนำไปผัดกับเนื้อสัตว์ หรือนำไปดองรับประทานกับแกงต่าง ๆ หรือกับน้ำพริกกะปิ หรือจะนำมาหลนก็ได้

          ลูกเนียง มีลักษณะกลม เปลือกแข็งสีเขียวคล้ำเกือบดำ ต้องแกะเปลือกนอก แล้วรับประทานเนื้อใน ซึ่งมีเปลือกอ่อนหุ้มอยู่ เปลือกอ่อนนี้จะลอกออกหรือไม่ลอกก็ได้แล้วแต่ความชอบ ใช้รับประทานสด ๆ กับน้ำพริกกะปิ หลนแกงเผ็ด โดยเฉพาะแกงไตปลา ลูกเนียงที่แก่จัดใช้ทำเป็นของหวานได้ โดยนำไปต้มให้สุกแล้วใส่มะพร้าวทึนทึกขูดฝอย และน้ำตาลทรายคลุกให้เข้ากัน

          เห็นแล้วใช่ไหมคะว่า นอกจากภาคใต้จะมีชื่อเสียงในเรื่องสถานที่ท่องท่องเที่ยวที่สวยงามแล้ว แต่ยังมีวัฒนธรรมและประเพณีของคนภาคใต้ที่มีความงดงามและน่าชื่นชมอีกมากมายที่รอให้คุณได้ไปสัมผัสอย่างใกล้ชิด รับรองเลยว่าคุณจะหลงเสน่ห์ภาคใต้แบบไม่รู้ลืมเลยล่ะค่า


แหล่งที่มา

http://travel.kapook.com/view48081.html 
http://www.thaifolk.com/doc/northen.htm
http://www.hilltribe.org/thai/museum/
http://www.oknation.net/blog/xeeb/2009/02/12/entry-6
http://dek-d.com/board/view.php?id=1240924
http://travel.kapook.com/view47157.html



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น